กัลปพฤกษ์วัดเหนือ – นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ในช่วงนี้หนังสือจิตรกรรมวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) เมืองกาญจนบุรี ที่มี ผศ.ฟ้อน เปรมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เป็นบรรณาธิการ

ทางวัดเทวสังฆารามและมรภ.กาญจนบุรี ให้ทุนในการจัดพิมพ์ กำลังอยู่ในช่วงจัดทำรูปเล่ม ได้มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว
เนื้อหาส่วนหนึ่งที่ดิฉันเขียนไว้ อยากนำมาแบ่งปันให้ได้อ่าน ได้ชมภาพจิตรกรรมวัดเหนือแสนงดงามที่น้องเจี๊ยบ คุณสายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ ช่างภาพมือหนึ่งถ่ายไว้ในวันนี้
คือเรื่องของต้นกัลปพฤกษ์
จิตรกรรมต้นกัลปพฤกษ์วัดเหนือ อยู่ที่บานหน้าต่างในโบสถ์หลังเก่า มองผาดเผินจะผ่านตาไปแทบไม่สังเกตเห็น ตัวดิฉันเองตอนเข้าไปดูจิตรกรรมวัดเหนือครั้งแรก ยังดูไม่รู้เลยว่าเป็นต้นอะไร ไม่เพียงอายุเยอะ ตามัวไปมาก แต่ภาพก็เล็กมากๆ ซะอีกแน่ะ ไปดูใกล้ๆก็ไม่ได้ เนื่องด้วยมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ด้านหน้าเต็มไปหมด แสงสว่างก็ไม่ค่อยพอ เพราะทีแรกที่เข้าไปชมภาพจิตรกรรม ยังไม่มีการเปิดไฟในโบสถ์เก่าอย่างเต็มที่
มาดูภาพครั้งที่ ๒ และเอาภาพถ่ายมาเพ่งพินิจ เพราะต้องเขียนคำอธิบายทุกภาพแล้วนั้นแหละ ดิฉันจึงพบว่า ต้นไม้งดงามที่ครูช่างวาดไว้นี้
คือ “ต้นกัลปพฤกษ์”
ในวันนี้ ดิฉันจึงขอคัดเอาคำอธิบายถึงภาพต้นกัลปพฤกษ์ ที่ดิฉันเขียนเล่าไว้ในหนังสือจิตรกรรมวัดเหนือ มาเล่าให้ฟังดังนี้
“ถึงวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสา เทศน์โปรดพระพุทธมารดาแล้ว พระองค์ได้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยบันไดแก้วตรงกลางที่พระอินทร์เนรมิตไว้ มีพระอินทร์ถือบาตรลงบันไดด้านขวาพร้อมทวยเทพ และมีพระพรหมกั้นเศวตฉัตรลงบันไดซ้าย (ภาพ ๑)
ในวันนั้นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้พุทธานุภาพเปิดโลกให้สัตว์ทั้งปวงมองเห็นกันและกัน ทั้ง สามโลก คือโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ โลกนรก
มนุษย์มองเห็นเทวดา สัตว์นรกและสัตว์เดรัจฉานทั่วทุกที่มองเห็นกัน ทั้งยังมองเห็นพระพุทธเจ้าด้วย เป็นวันนรกเปิด เปรต เดรัจฉาน ภูตผีวิญญาณก็เห็นทั้งพระพุทธเจ้า สวรรค์ มนุษย์ และเทวดาด้วยเช่นกัน (ภาพ ๒ )
ครูช่างเขียนภาพสวรรค์ โดยใช้ต้นกัลปพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ และมนุษย์ตักบาตรพระพุทธเจ้าอยู่ใกล้กับต้นกัลปพฤกษ์(ภาพ ๓)
สำหรับต้นกัลปพฤกษ์ที่วัดเทวสังฆารามนี้ ครูช่างเขียนไว้ตรงปากประตูเมือง วาดเป็นภาพต้นไม้แผ่พุ่มพฤกษ์สาขาร่มเงาใหญ่โต ตามกิ่งก้านมีทรัพย์สิน แก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับต่างๆ ผ้าผ่อนงดงามแขวนอยู่ สะท้อนถึงความสุขสมบูรณ์ กัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้สารพัดนึกอยู่บนสวรรค์ คตินี้มีปรากฏอยู่ในไตรภูมิกถา เขียนขึ้นสมัยพระยาลิไท กรุงสุโขทัย ดังนี้
“แลในแผ่นดินอุตตกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง โดยสูงได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบบริเวณมณฑลได้ ๓๐๐ โยชน์ แลต้นกัลปพฤกษ์นั้นผู้ใดจะปรารถนาหาทุนทรัพย์ สรรพเหตุใดๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุกประการแล
ถ้าแลคนผู้ใดปรารถนาจะใคร่ได้เงินแลทองของแก้วแลเครื่องประดับทั้งหลาย เป็นต้นว่า เสื้อ สร้อยถนิมพิมพาภรณ์ก็ดี แลผ้าผ่อนท่อนแพรพรรณสิ่งใดๆก็ดี แลข้าวน้ำโภชนาอาหารของกินสิ่งใดก็ดี ก็ย่อมบังเกิดปรากฏขึ้นแต่ค่าคบต้นกลัปพฤกษ์นั้น ก็ให้สำเร็จความปรารถนาแก่ชนทั้งหลายนั้นแล”
พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กล่าวถึงเรื่องกัลปพฤกษ์ไว้ว่า
“ตามคติโบราณเชื่อกันว่าต้นกัลปพฤกษ์ มีอยู่ในแดนสวรรค์ หากผู้ใดปรารถนาสิ่งใด ก็อาจจะไปนึกเอาจากต้นไม้นี้ได้”
ในคติความเชื่อในเรื่องต้นกัลปพฤกษ์ของไทยโบราณ สืบต่อกันมาว่าสำหรับโลกมนุษย์ ต้นกัลปพฤกษ์จะมาบังเกิดเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรย์มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยต้นกัลปพฤกษ์จะขึ้นอยู่ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน สี่มุมเมืองของยุคพระศรีอาริย์ ใครต้องการสิ่งของอะไรก็ไปอธิษฐานขอเอาจากต้นกัลปพฤกษ์ดังกล่าวนั้นได้ทุกคน แสดงถึงโลกพระศรีอาริย์ยุคอนาคตที่มหาชนต่างๆ จะอยู่อย่างมีความสุขสมบูรณ์ ซึ่งเป็นอุดมคติของคนไทยยุคก่อนรับอารยธรรมตะวันตก ที่ผู้คนทุกชนชั้นทำบุญตักบาตร ปฏิบัติภาวนาเพื่อบรรลุนิพพาน หรือไม่ก็ไปเกิดในโลกอันอุดมสมบูรณ์ยิ่งของยุคพระศรีอาริย์
ในจิตรกรรมวันที่พระพุทธเจ้าใช้พุทธานุภาพเปิดโลกให้เห็นซึ่งกันและกันนี้ จึงเป็นวันที่สัตว์ทั้งปวงที่สุดจนมดดำมดแดง เมื่อได้เห็นพระศาสดาแล้ว ล้วนปรารถนาที่จะเข้าถึงพุทธภูมิทั้งสิ้น
อ่านรายละเอียดพุทธประวัติตอนนี้ใน ปฐมสมโพธิกถา ปริจเฉทที่ ๒๔ เทโวโรหนปริวรรต
เรื่อง นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
ภาพ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์

Written By
More from pp
กลุ่ม ปตท. เร่งฝ่าวิกฤต สู้ภัย COVID-19 ตั้งโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” มอบ “เครื่องช่วยหายใจ” กว่า 300 เครื่อง พร้อมออกซิเจนแก่ รพ. ทั่วประเทศ เตรียมงบสู้ระลอก 3 รวม 200 ล้านบาท
3 พฤษภาคม 2564 – นายอรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า “จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19...
Read More
0 replies on “กัลปพฤกษ์วัดเหนือ – นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว”