วัคซีนที่ต้องเข้าใจ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

มือไม้อ่อนระทวยทันตา…

            ฟังคุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงเรื่องดรามาวัคซีน ถึงจะได้ข้อมูลไม่มากนัก แต่ทำให้พอเข้าใจสถานการณ์ของวัคซีนได้ระดับหนึ่ง

  “จากกรณีที่มีเรื่องดรามาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.จึงมีดำริให้ทางเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค., อธิบดีกรมควบคุมโรค  และผู้ว่าฯ กทม.มาชี้แจงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ในส่วนของกรมควบคุมโรค ชี้แจงถึงแผนการจัดหาวัคซีนและแผนการกระจายวัคซีนที่ต้องมีความสอดคล้องไปด้วยกัน

                ช่วงแรกแผนจัดหาวัคซีนสามารถดำเนินการไปได้ แต่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนเกิดความขลุกขลักขึ้นบ้าง เนื่องจากวัคซีนเป็นตัวใหม่และเป็นชีววัตถุ ต้องดูแลให้เกิดความปลอดภัย

                และยังมีเรื่องเงื่อนเวลาเข้ามา ทำให้การจองผ่านระบบหมอพร้อม ซึ่งมีการล็อกวันและเวลา สถานที่ มีเลขล็อตวัคซีนเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนและแก้ไขจนคลี่คลายในเวลาต่อมา โดยมีการจองผ่านระบบลงทะเบียนอื่น ทำให้มีประชาชนจองเข้ามาจำนวนมาก

                ปัญหาที่เกิดเนื่องจากเรามีความต้องการวัคซีนมาก  ในขณะที่ได้รับมาไม่มากพอกับความต้องการ

                ในฐานะโฆษก ศบค.จึงต้องกราบขออภัยประชาชนเป็นอย่างสูง

                และยืนยันว่าเราทำงานหนักทุกคน เพราะต้องการหาวัคซีนมาให้โดยเร็ว

                แต่เมื่อไม่ได้อย่างทันท่วงทีทำให้ขลุกขลักบ้าง จึงขอให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าของทุกภาคส่วน และเราขอให้คำมั่นว่าจะทำให้เต็มที่และอย่างดี

                เช่นเดียวกับบริษัทวัคซีนในไทยก็จะทำการจัดหาส่วนต่างๆ เชื่อมั่นว่าความตั้งใจนี้จะทำให้เป็นไปด้วยดี ขอให้มั่นใจกับสิ่งที่เราทำเพื่อผ่านวิกฤติไปด้วยกัน

                ผอ.ศบค.ระบุว่าในภาวะวิกฤติขอให้คนไทยรักกัน  ความร่วมมือกันและห่วงใยกัน แม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันและเป็นเรื่องที่ลงรายละเอียด มีปัญหาเยอะแยะมากมาย  ขอให้ทุกฝ่ายทุกส่วนพูดคุยกัน

                โดยผู้ว่าฯ กทม.และอธิบดีกรมควบคุมโรคต่างยืนยันว่า ทุกอย่างต้องขอบคุณซึ่งกันและกัน เพราะส่วนที่จัดหา  ส่วนกระจาย และฉีด ต้องพึ่งพาอาศัยกัน และขอบคุณประชาชนที่สนใจเพื่อก้าวผ่านไปด้วยกัน”

            โดยสรุปคือ วัคซีนมีน้อยกว่าความต้องการ

            ส่วนที่ไม่เข้าใจกันในระดับปฏิบัติการก็ปรับความเข้าใจกันเรียบร้อย แต่จะเข้าใจในรายละเอียดตรงกันหรือเปล่าก็ยังคงต้องดูกันต่อไป

            ว่ากันตามตรงตอนนี้เกือบทุกคนต้องการฉีดวัคซีน  เมื่อถูกเลื่อน หรือที่ยังไม่ถึงคิวก็เสียความรู้สึกเป็นธรรมดา

            แต่เมื่อดูในภาพรวม ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ ๖ มิถุนายน ฉีดไป ๔.๒ ล้านโดส

            ล่วงเลยมาถึงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ฉีดแล้ว ๖.๑๘ ล้านโดส

            ตัวเลขกลมๆ เพิ่มขึ้นมา ๒ ล้านโดสใน ๑ สัปดาห์

            ถือว่าทำได้ไม่เลว

            แต่เหตุที่วัคซีนขาด นอกจากผลิตไม่ทันแล้ว ยังมาจาก คุณหมอ คุณพยาบาล ของเราขยันครับ วัคซีนเข้ามาเท่าไหร่ไม่มีกั๊ก ฉีดเน้นๆ เต็มๆ

            เพราะการเร่งฉีด ก็เป็นเหตุหนึ่งทำให้วัคซีนขาดช่วง  แต่จะไปโทษคุณหมอ คุณพยาบาลไม่ได้ เพราะทุกท่านเต็มที่กับงาน

            วัคซีนต่างหากที่ไม่ทันใจ!

            ครับ…รายละเอียดที่ประชาชนอยากรู้เรื่องวัคซีน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ชี้แจงไปวานนี้ ละเอียดพอที่จะทำให้ใครก็ตามที่กำลังเดือดปุดๆ เพราะถูกเลื่อนฉีดวัคซีน พอจะใจชื้นขึ้นได้บ้างว่าต้องได้ฉีดเแน่นอน

            แต่ช้ากว่ากำหนดเดิมนิดหน่อย

            สรุปความการชี้แจงของอธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ตามนี้ครับ……… 

            กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดในการจัดหาวัคซีน โควิด-๑๙ ให้แก่ประเทศไทยอย่างน้อย ๕๐ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของประชาชนที่อยู่ในแผ่นดินไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

            ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี ๒๕๖๔ 

            ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาได้นำเข้าวัคซีนจำนวน ๘.๑ ล้านโดส

            แบ่งเป็นวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ๒.๑ ล้านโดส

            และบริษัทซิโนแวค ๖ ล้านโดส

            ปัจจุบันได้ฉีดสะสมแล้วทั้งหมด ๖,๑๘๘,๑๒๔ โดส (นับถึงวันที่ ๑๓ มิถุนายน)

            โดยจำนวนฉีดสูงสุดอยู่ที่ กทม. ๑,๗๑๖,๓๙๔ โดส คิดเป็น ๒๗.๗% ของวัคซีนทั้งหมดที่มีอยู่

            แบ่งเป็นเข็มที่หนึ่ง ๑,๓๔๖,๙๙๓ โดส

            และเข็มที่สอง ๓๖๙,๔๐๑ โดส

            ทำให้ประชากรในกรุงเทพมหานคร ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ๑๗.๕%

            อย่างที่เราทราบโดยธรรมชาติของการผลิตวัคซีน ที่เป็นชีววัตถุ จะมีความไม่แน่นอนในการผลิตค่อนข้างสูง ไม่เหมือนกับยาที่ใช้สารเคมีตั้งต้น พวกนั้นจะสามารถควบคุมได้ดีกว่า

            ฉะนั้น การผลิต การตรวจสอบคุณภาพของวัคซีน จะมีมาตรฐานสากลที่เราต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ควบคุมคุณภาพ ที่เรียกว่า Quality Assurance ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

            การจัดสรรวัคซีน จะพิจารณาถึงข้อมูลวิชาการ พื้นที่  จำนวนประชากร สถานการณ์การระบาด และแบ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด

            รวมถึงการคำนึงถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมากำหนด

            การจัดการลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย จะเน้นที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องดำเนินการในการสอบสวนควบคุมโรค

            ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบ ๑๐๐% แล้ว

            นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มตำรวจ ทหาร อสม. ที่ต้องลงไปในพื้นที่กักกันโรค ก็จะได้รับการฉีดและจัดสรรต่อไป

            เดือนมิถุนายน มีการกระจายวัคซีน วางแผนไว้ อย่างน้อยจะต้องเป็น ๒ งวด ครอบคลุมการฉีดระยะ ๒ สัปดาห์

            งวดแรกที่เรามีการฉีดตั้งแต่วันที่ ๗-๒๐ มิถุนายน

            จะมีการส่งวัคซีนไปประมาณ ๓ ล้านโดส ประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวค ๑ ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า ๒  ล้านโดส

            จัดส่งไปยัง กทม. แล้ว ๕ แสนโดส

            ประกอบด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ๓.๕ แสนโดส และซิโนแวค ๑.๕ แสนโดส

            ส่งไปให้สำนักงานประกันสังคมอีก ๓ แสนโดส ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะฉีดใน กทม.เป็นหลัก

            รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัย ๑๑ แห่ง ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อีก ๑.๕ แสนโดส

            ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมใน ๗๖ จังหวัด จะมีการส่งวัคซีน ๑.๑ ล้านโดส ไปจุดฉีดต่างๆ สำหรับองค์กรภาครัฐ เช่น กลุ่มขนส่งสาธารณะ กลุ่มทหาร ตำรวจ ที่ต้องดำเนินการในการกักกันผู้ป่วย ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ

            และครู อีก ๑ แสนโดส

            ภาพรวมปัจจุบันวัคซีนได้กระจายไปตามจุดต่างๆ  และจังหวัดต่างๆ ประมาณ ๘ ล้านโดส

            ฉีดไปแล้วกว่า ๖ ล้านโดส

            ตามเป้าหมายน่าจะฉีดได้ประมาณ ๑๐ ล้านโดสภายในเดือนมิถุนายน

            ครับ…นี่คงเป็นการชี้แจงที่น่าจะละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีการแถลงข่าวกันมา

            ๕๐ ล้านคนได้ฉีดครบ จบในปีนี้.

Written By
More from pp
“ร.อ.ธรรมนัส” ยกทีม ส.ส ลุยลำปาง ช่วย “วัฒนา สิทธิวัง” ผู้สมัครหมายเลข 1 พลังประชารัฐ มั่นใจชนะเลือกตั้งซ่อมแน่นอน
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.63 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.จังหวัดพะเยา และในฐานะประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือตอนบน พรรคพลังประชารัฐ พร้อมส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ อาทิ
Read More
0 replies on “วัคซีนที่ต้องเข้าใจ-ผักกาดหอม”