กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 10 แหล่งอาหารหาง่าย ได้แก่ ขิง พริกหวาน แอปเปิ้ล ฟักทอง ขมิ้นชัน มะเขือเทศ ธัญชาติต่างๆ น้ำมันมะกอก หอยนางรม และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กินเป็นประจำช่วยบำรุงปอด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลบทความวิชาการที่เผยแพร่ในวารสารต่างประเทศ พบว่าการปรับวิถีชีวิต เช่น การงดสูบบุหรี่ การออกกำลังกายรวมถึงการกินอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารสามารถช่วยปกป้องปอด และลดความเสียหายของปอดจากโรคหรือการติดเชื้อได้ โดยแหล่งอาหาร 10 ชนิด หาได้ง่ายและเมื่อกินเป็นประจำจะส่งผลดีต่อการทำงานของปอด ได้แก่
1. ขิง เป็นสมุนไพรที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยต้านการอักเสบ
2. พริกหวาน เป็นแหล่งวิตามินซีที่ดี ช่วยต้านอนุมูลอิสระและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เป็นปกติ
3. แอปเปิ้ล มีใยอาหาร วิตามินซีและมีสารต้านอนุมูลอิสระ
4. ฟักทอง มีสารอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพปอดหลายชนิด โดยเฉพาะแคโรทีนอยด์ เบต้าแคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน
5. ขมิ้นชัน มีสารเคอร์คูมินเป็นส่วนประกอบหลักการศึกษาวิจัยพบว่าการบริโภคเคอร์คูมินมีความสัมพันธ์กับการทำงานของปอดที่ดีขึ้น
6. มะเขือเทศ มีสารไลโคปีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ที่จะช่วยลดการอักเสบของทางเดินหายใจในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด และช่วยเรื่องการทำงานของปอดในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แหล่งอาหารลำดับที่
7. ธัญพืชเต็มเมล็ด ที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง เป็นต้น เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงอุดมด้วยวิตามินอี ซีลีเนียมและกรดไขมันจำเป็น ซึ่งดีต่อสุขภาพปอด
8. น้ำมันมะกอกเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีเพราะมีสารโพลีฟีนอลและวิตามินอีที่ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
9. หอยนางรม อุดมด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพปอด ได้แก่ สังกะสี ซีลีเนียม วิตามินบีและทองแดง และ
10. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น สตรอว์เบอรี บลูเบอร์รี มีฟลาโวนอยด์ที่เรียกว่าแอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นต้น
“ทั้งนี้ การกินผักและผลไม้เป็นประจำให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม โดยแบ่งเป็นผักสุก 3 มื้อ ๆ ละ 2 ทัพพี ผลไม้ตามฤดูกาลวันละ 3-5 ส่วน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปอด เนื่องจากผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี สังกะสี ซิลิเนียม สารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างภูมิต้านทานและเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้สามารถกำจัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ผักและผลไม้ยังมีสารฟลาโวนอยด์ มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ปอดถูกทำลายได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว