วัคซีนเปลี่ยนโฉมรัฐบาล-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ผมรู้สึกประหลาดใจ

            จนถึงวันนี้ยังมีคนด่ารัฐบาลไร้วิสัยทัศน์ บริหารเรื่องวัคซีนโควิด-๑๙ ผิดพลาด จึงไม่สมควรอยู่เป็นรัฐบาลอีกต่อไป

คนกลุ่มนี้ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าไปสัก ๑-๒  เดือนไม่ออกเลยหรือ

            จะบอกว่าไม่มีข้อมูลให้ประเมินก็ไม่ได้

            เพราะข้อมูลล่องลอยอยู่ในโซเชียลมากมาย  

            คว้าตรงไหนก็เจอ

            ที่สำคัญไม่ใช่คนไม่มีความรู้

            บางคนเป็นหมอ

            บางคนเป็นนักเคลื่อนไหว

            หลายคนเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน

            อยู่ในระดับหัวกะทิของประเทศทั้งสิ้น

            แต่กลับทำตัวเป็นกาก

            คั้นให้ตาย หางกะทิยังไม่ได้ น้ำออกมาใสจ๋อง เหมือนพวกสมองกลวง ไร้เนื้อเยื่อภายใน

            รู้สึกประหลาดใจซ้ำซ้อนหลายระดับ กับเสียงด่าว่า ถ้าไทยเข้าโครงการ COVAX ป่านนี้ได้ฉีดวัคซีนกันเพียบแล้ว

            การมานั่งอธิบายว่าทำไมไทยไม่เข้าร่วม โครงการ  COVAX ขององค์การอนามัยโลกในตอนนี้ ก็ประมาณว่าต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่หนังตัวอย่าง ในขณะที่หนังใกล้จะจบอยู่รอมร่อ

            เห็นในโซเชียลเขาอธิบายเข้าใจง่าย ก็เอามาฝาก ตอกย้ำกันอีกที เผื่อจะเติมเต็มพวกที่เอาแต่ค้านหัวชนฝาได้บ้าง

            โครงการ COVAX คืออะไรทำไมไทยไม่เข้าร่วม?

            จุดประสงค์หลัก เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจน

            COVAX เป็นโครงการที่ประเทศร่ำรวย ร่วมกันบริจาคแชร์วัคซีน เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจน WHO  จะเป็นผู้จัดสรรให้

            เมื่อได้วัคซีนมา WHO จะทำการหาร เฉลี่ยกองกลางและแบ่งให้แต่ละประเทศ ตามความเหมาะสม ไม่มีสิทธิ์เลือกวัคซีน

            ประเทศที่เข้าร่วม COVAX จะไม่มีสิทธิ์เลือกวัคซีน ถ้าอยากเลือกต้องจ่าย ๒ เท่า

            ไทยไม่ได้ตกขบวน ประเทศไทยมีข้อตกลงเป็นฐานการผลิตให้ AstraZeneca / Oxford มีกำลังผลิต ๒๐๐ ล้านโดสต่อปี จึงไม่จำเป็นต้องเข้าร่วม COVAX แต่อย่างใด

            เพิ่มเติมให้อีกนิด ที่จริงก็ย้ำกันมาหลายรอบแล้วว่า  ประเทศยากจนที่เข้าร่วมโครงการ COVAX ล้วนน่าเห็นใจครับ

            เพราะส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเพียงน้อยนิด

            ตามเป้าหมายคือ ๒ พันล้านโดส ๑ พันล้านเข็ม  สำหรับ ๑๙๐ ประเทศและดินแดน ภายในสิ้นปีนี้

            แต่สถานการณ์จริงของโควิด-๑๙ ไม่ได้เป็นไปตามที่  WHO วางแผนเอาไว้

            จากวิกฤติที่อินเดีย ทำให้สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย  (เอสไอไอ) ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อวัดจากปริมาณ และเป็นกำลังหลักของการผลิตวัคซีนให้โครงการ  COVAX ของ WHO ประกาศว่า จะสามารถส่งวัคซีนให้ โครงการ COVAX ได้ภายในสิ้นปีนี้        

            จากกำหนดเดิมภายในเดือนตุลาคม

            นั่นเท่ากับว่าประเทศที่เข้าร่วม โครงการ COVAX ได้รับวัคซีนล่าช้าหมด ยกเว้นบางประเทศที่พอมีเงินซื้อวัคซีนผ่านทางช่องทางอื่นๆ แต่ต้องซื้อในราคาแพง เพราะจนถึงวันนี้ตลาดยังเป็นของผู้ขายอยู่

            กลับมาที่ไทย สิ้นเดือนตุลาคม เราสามารถฉีดวัคซีนได้เท่าไหร่?

            แผนการให้บริการวัคซีนจากการที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ดีเดย์ในวันที่ ๗ มิถุนายน ผ่าน ๓ ช่องทาง

            ๑.ระบบหมอพร้อม อายุต่ำกว่า ๖๐ ปี เปิดลงทะเบียน  ๓๑ พฤษภาคม

            ๒.ลงทะเบียน ณ จุดบริการ (On-site Registration)

            และ ๓.การกระจายวัคซีนให้กลุ่มเฉพาะ เช่น แพทย์  พยาบาล อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ครู นักธุรกิจ นักศึกษา

            แผนการฉีดวัคซีน

            ระยะที่ ๑ หรือ ระยะปัจจุบัน ถึงวันที่ ๖ มิถุนายน ทยอยฉีดให้กลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด  ตามโควตาวัคซีนที่แต่ละหน่วยงาน/องค์กรได้รับ

            ระยะที่ ๒ วันที่ ๗ มิถุนายน เป็นต้นไป เริ่มการฉีดวัคซีนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ

            รวมทั้งผู้มีอาชีพ กิจการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เช่น สาธารณูปโภค อาหาร ยา ผู้สูงอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ตัวแทนนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ นักเรียน นักศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ วัยทำงานผู้มีสิทธิประกันสังคม และประชาชนทั่วไป

            ระบบบริหารจัดการวัคซีนโควิด-๑๙ กลุ่มเป้าหมาย

            ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ยังรับวัคซีนไม่ครบ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิดที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ผู้มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว ประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ชาวไทยที่จะไปศึกษา/ทำงานที่ต่างประเทศ  คณะทูตานุทูต องค์การระหว่างประเทศ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ชาวต่างชาติและแรงงานต่างด้าว และประชาชนทั่วไป

            จุดบริการวัคซีน ในต่างจังหวัด จำนวน ๗๗๙,๘๖๘  คนต่อวัน

            จุดฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล ๙๙๓ แห่ง โรงพยาบาลสนาม ๒๖๑ แห่ง ลงทะเบียนที่จุดฉีดวัคซีน แบบ On-site  Registration ๒๒๑ แห่ง

            ส่วนกรุงเทพมหานคร ๘๐,๐๐๐ คนต่อวัน

            รวมทั่วประเทศคาดว่าจะฉีดได้ ๘๕๙,๘๖๘ คนต่อวัน

            ตัวเลขกลมๆ วันละ ๘.๖ แสนคนต่อวัน

            หากเป็นไปตามแผนแค่ ๒ เดือนฉีดครบ ๕๐ ล้านคน  หรือ ๗๐% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ตามเป้าหมายที่วางไว้

            แต่ประเด็นสำคัญคือจำนวนโดสวัคซีนพอหรือไม่? ถ้าพอ ไทม์ไลน์นี้…ก่อนเดือนตุลาคม ซึ่งฉีดเข็ม ๒ ได้ครบ  ประเทศไทยน่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว

            และวัคซีนหลักที่ฉีดคือ AstraZeneca

            ทั้งหมดนี้เพราะการวางแผนวัคซีนตั้งแต่ช่วงกลางถึงปลายปี ๒๕๖๓

            ทำใจนิ่งๆ ย้อนเวลากลับไปช่วงยังไม่มีประเทศไหนผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ ได้สำเร็จ การจับคู่เพื่อการลงทุนในการวิจัยก็เหมือนการเสี่ยงดวง  

            ขณะที่ไทยลงทุนร่วมกับ AstraZeneca ก็ไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนยี่ห้อไหนจะนำมาใช้ได้จริงก่อนกัน

            ฉะนั้นขอย้ำว่า อย่าเอาความรู้เรื่องวัคซีนในวันนี้ ไปตัดสินว่าทำไมไม่ทำแบบนี้แบบนั้นในวันที่ยังไม่มีวัคซีนโควิด-๑๙ ในโลกนี้

            ที่่ต้องย้ำเพราะเบื่อพวกเอาแต่บ่น ทำไมไม่เอา Pfizer  มาตั้งแต่แรก

            จะไปเอาไงได้ล่ะครับ ราคาสูงลิ่วแถมไม่มีของอีกต่างหาก

            ครับ…..สายพันธุ์อินเดียมาแล้ว สายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็เจอแล้ว

            หลังคนไทยได้รับวัคซีนครบ ไทยจะกลายเป็นความหวังของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะมีวัคซีน AstraZeneca  จากไทยถูกแจกจ่ายไปทั้งภูมิภาค

            นั่นหมายความว่า ไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร  ๗๐%

            ถ้าใครยังด่าอีก ขอแนะนำ ย้ายประเทศเถอะครับ.

Written By
More from pp
โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เผย ส่ง “จุติ” อดีต รมต.พม. ร่วม กมธ. แก้กม.ห้ามตีเด็ก ย้ำจุดยืน พรรครวมไทยสร้างชาติ ทำโทษตามสมควร แนะออกกฎหมายใช้ทางสายกลาง
24 กรกฎาคม 2567 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.จังหวัดราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยถึงมติการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า ในวันที่ 24...
Read More
0 replies on “วัคซีนเปลี่ยนโฉมรัฐบาล-ผักกาดหอม”