8 พ.ค.64 –นางสาวทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวในไลฟ์พูดคุยกับ นายชีวิน มัลลิกะมาลย์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักร และเดินทางกลับไทย โดยอยู่ในขั้นตอนกักตัวตามมาตรการของรัฐว่า ตนได้สอบถามถึงสถานกาณ์การแพร่ระบาดโควิดในสหราชอาณาจักร ซึ่งนายชีวินเล่าว่า เมืองที่อยู่คือกลาสโกว์ ไม่ใช่เมืองหลวง จึงเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานครไม่ได้
อย่างไรก็ตามระบบสาธารณสุขของเขาเข้าถึงได้ยาก ประชาชนไม่สามารถเดินเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนได้สะดวก ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งระยะเวลาไม่สามารถกำหนดได้ บางรายอาจต้องรอนานถึง 2 สัปดาห์ จนบางครั้งอาการป่วยหายไปก่อนวันนัดหมายพบแพทย์
อีกทั้งร้านขายยาขายได้เฉพาะยาสามัญ เช่น พาราเซตามอล ไม่สามารถซื้อยาฆ่าเชื้อได้เองโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เป็นระบบสาธารณสุขที่มีแนวคิดเน้นให้ทุกคนดูแลตัวเอง โดยสำหรับชาวต่างชาติเช่นนายชีวินที่มีวีซ่านักเรียน นักศึกษา ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับระบบบริหารสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Service (NHS) ก่อน
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นายชีวินยังได้ยกตัวอย่างกรณีการบริหารจัดการในเรื่องของสายด่วนรับเรื่องโควิดซึ่ง รุ่นน้องของนายชีวินมีอาการคล้ายกับติดเชื้อโควิดก็มีปัญหาโทรไม่ติด ไม่มีคนรับ หรือมีคนรับก็แนะนำเพียงให้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน ซึ่งรุ่นน้องรายดังกล่าวรักษาอาการโดยกินยาพาราเซตามอล ยาฟ้าทะลายโจร ในขณะที่คนใกล้ตัวนายชีวินมีความเสี่ยงสูง การตรวจต้องทำด้วยตัวเอง
โดยหลังจากที่ทางการประเมินแล้วก็จะส่งชุดตรวจมาให้ทางไปรษณีย์และให้ผู้ป่วยส่งกลับไปอ่านผลในระบบ เมื่อพบว่าเป็นโควิดก็ขอให้กักตัวเป็นเวลา 10 วันเท่านั้น ไม่ได้มีรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวที่สถานพยาบาลแต่อย่างใด และเมื่อกักตัวครบ 10 วันก็ไม่มีได้เทสต์ซ้ำว่าหายหรือไม่ จะมีเพียงคำแนะนำในการผู้ป่วยดูแลสุขภาพ
เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ และจะติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ถ้าผู้ป่วยอาการหนักจนไม่ไหวก็ให้โทรติดต่อกลับไปเท่านั้น ซึ่งนายชีวินกล่าวว่าหากเป็นที่ไทยจะต้องมีรถฉุกเฉินมารับและฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อแล้ว และที่แตกต่างกันมากคือไม่มีการสอบสวนโรคและเปิดเผยไทม์ไลน์ มีเพียงแจ้งปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยง จะไม่เปิดเผยว่าผู้ป่วยไปไหนมาบ้าง ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงได้
ส่วนเรื่องวัคซีนนั้น สหราชอาณาจักรให้สิทธิทุกคนที่อยู่ในระบบ NHS ได้ฉีดวัคซีน แต่ไม่ได้บริการให้คนนอกระบบ ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปเพื่อรับการฉีดวัคซีนไม่ได้ และประชาชนก็ไม่มีสิทธิเลือกวัคซีนยี่ห้อใด ทางการมีการโฆษณาเชิญชวนให้ฉีดวัคซีน แต่นายชีวินให้ข้อสังเกตว่า ประชาชนของเขาส่วนใหญ่ต้องการฉีดวัคซีนเพราะต้องการให้สถานการณ์ยุติลงโดยเร็ว เนื่องจากล็อกดาวน์มาตั้งแต่ช่วงคริสมาสต์และเพิ่งปลดล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา
ส่วนกรณีวัคซีนทางเลือกสำหรับโรงพยาบาลเอกชนนั้น เป็นไปได้ยากเนื่องจากประชาชนไม่นิยมเข้าถึงเพราะโรงพยาบาลเอกชนเก็บค่าบริการแพงมาก ที่สำคัญประชาชนมีจำนวนไม่มากจึงเชื่อว่าจะรอให้ได้ฉีดอย่างทั่วถึง ดังนั้นถ้ารัฐแจ้งให้ไปฉีดก็จะไปฉีดกัน รัฐจัดลำดับให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวได้ฉีดก่อนเหมือนกับประเทศไทย
เรื่องอาการข้างเคียงจากวัคซีนนั้น ประชาชนที่นั่นคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่มันอาจจะเกิดผลข้างเคียงบ้าง จึงไม่ได้วิตกกังวลเหมือนปรากฎการณ์ในประเทศไทย จากเพื่อนคนไทยที่ไปฉีดมาแล้วก็พบว่ามีผลข้างเคียงเป็นไข้เกือบทุกยี่ห้อไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าเซเนก้าหรือไฟเซอร์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนของเขาค่อนข้างให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ของรัฐเพราะหากฝ่าฝืนจะมีโทษ บางกรณีแม้จะไม่มีโทษจำคุกแต่โทษปรับสูงถึง 200 ปอนด์
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ตนยังได้ขอให้นายชีวินเล่าประสบการณ์การกักตัว ซึ่งนายชีวินระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ควบคุมตลอดเส้นทางตั้งแต่ลงเครื่องบินจนถึงสถานที่กักตัว ร้านค้าที่สนามบินปิดบริการหมดไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้ การกักตัวจะมี 2 แบบคือแบบที่รัฐจัดให้ (ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย) และแบบทางเลือก (เสียค่าใช้จ่ายเอง) ซึ่งนายชีวินกักตัวแบบที่รัฐจัดให้ในโรงแรมที่พัทยา สภาพห้องพักเป็นที่น่าพอใจ มีอุปกรณ์ครบทุกอย่าง
นางสาวทิพานัน ยังกล่าวในตอนท้ายของไลฟ์เชิญชวนขอให้คนไทยช่วยกันแก้ไขข่าวปลอมที่สร้างความสับสนให้กับสังคมไทย ขอให้ทุกคนทำร่างกายให้แข็งแรงและไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรค คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญยืนยันแล้วว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ยังไม่มีการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน และในกรณีที่ผู้ฉีดมีอาการแทรกซ้อนแพ้รุนแรงในขณะนี้รัฐก็มีมาตรการเยียวยาเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ
“ตอนนี้สังคมไทยเป็นช่วงเวลาที่หลายคนรู้สึกตึงเครียด เราสามารถสร้างพลังบวก มีน้ำใจ ช่วยเหลือซึงกันและกัน ไม่ดราม่า จริงๆ ตอนนี้ นอกจากเราช่วยกันแล้ว ก่อนเราส่งต่อข้อมูลก็ต้องเน้น เช็กก่อนแชร์ เช็กให้แน่ใจว่าไม่ใช่ข่าวปลอม ช่วยป้องกันกระแสความเข้าใจผิด” น.ส.ทิพานัน กล่าว