ผักกาดหอม
คนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ ๘ บรรทัด จริงหรือเปล่า
ไม่มีงานวิจัยอ้างอิงว่าเป็นไปตามนั้น
แต่สังคมที่อ่านหนังสือน้อย ฟังเขาเล่าเยอะแล้วเชื่อตามนั้น หายนะรออยู่ข้างหน้า เพราะการแยกแยะผิดถูกจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
เกริ่นมาเช่นนี้เพื่อจะอธิบายคดี “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีต่อได้
ความเข้าใจเรื่องนี้ดูเหมือนจะใช้เกณฑ์ทางอารมณ์เป็นที่ตั้ง
ข้อกฎหมายเป็นรอง หรือไม่ก็…ไม่สนใจกฎหมาย
การพิจารณาคดีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตามคำร้อง
คำร้องของพรรคก้าวไกลได้อ้างถึง พิพากษาศาลอุทธรณ์ ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีความเห็นว่า การต้องคำพิพากษาให้จำคุกในต่างประเทศจะต้องใช้กับประเทศไทยด้วย
ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญยกอํานาจอธิปไตย วินิจฉัยว่าการใช้อำนาจตุลาการย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น คำพิพากษาของศาลออสเตรเลียไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย
สรุปง่ายๆ คำพิพากษาศาลประเทศอื่นไม่มีผลต่อศาลไทย
เมื่อจบแบบนี้เรื่องจึงร้อนฉ่า!
มีคนสงสัยว่าไม่เกี่ยวกันไง
ยกตัวอย่างง่ายๆ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” มีสถานะเป็นผู้ถูกศาลไทยพิพากษาให้จำคุกคดีคอร์รัปชัน
และขณะนี้ผลในคำพิพากษานั้นยังอยู่
แต่ทั้ง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” สามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก
เพราะคำพิพากษาของศาลไทยไม่ครอบคลุมถึง เว้นมีการขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่ก็จำจัดจำเขี่ยเฉพาะประเทศที่มีสนธิสัญญาต่อกัน
“ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ก็ฉลาดพอไปปักหลักที่ดูไบ ซึ่งไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
พรรคก้าวไกลยกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เคยระบุว่าการต้องคำพิพากษาให้จำคุกในต่างประเทศจะต้องใช้กับประเทศไทยด้วย
รายละเอียดเรื่องนี้มีอยู่ว่า วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ ขณะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๒๑ บังคับใช้อยู่ กระทรวงมหาดไทยได้ร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาว่าบทบัญญัติในมาตรา ๙๖ ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าห้ามไม่ให้บุคคลที่ “เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำคุกตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง ๕ ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท” มีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้ง หมายรวมถึงการจำคุกในต่างประเทศด้วยหรือไม่
กระทรวงมหาดไทยแนบเหตุผลด้วย ๒ ข้อ
๑.บทบัญญัติดังกล่าว น่าจะหมายถึงการจำคุกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยยกเหตุผลเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีพร้อมในทุกด้าน
๒.ลักษณะความผิดบางประเภทในต่างประเทศก็กำหนดไว้เช่นเดียวกับกฎหมายไทย บางกรณีแม้กระทำในต่างประเทศก็อยู่ในขอบข่ายอำนาจศาลไทยในการลงโทษด้วยซ้ำ หากปล่อยทิ้งไว้ผู้กระทำผิดอาจอาศัยช่องว่างของกฎหมายในการสมัครรับเลือกตั้ง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับว่า การเคยต้องโทษจำคุกในต่างประเทศก็ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
แต่ในปี ๒๕๕๔ คณะกรรมการกฤษฎีกากลับให้ความเห็นทางกฎหมาย เรื่องการต้องคำพิพากษาให้จำคุกในต่างประเทศต่างออกไป
ปีนั้นสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพบปัญหาบุคลากรของส่วนราชการเคยถูกศาลต่างประเทศพิพากษาให้จำคุก
แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาว่าบุคลากรคนดังกล่าวจะสามารถยื่นเรื่องขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ.๒๕๓๖ หรือถ้ามีการมอบให้ไปแล้วจะเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้หรือไม่
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุเอาไว้ว่า
“(ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้น) ย่อมหมายความเฉพาะคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลไทยเท่านั้น
ไม่อาจตีความเพื่อให้หมายความถึงคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลต่างประเทศได้”
“เพราะจะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายเรื่องขอบเขตการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ”
ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกามีผลต่อองค์กรอื่นแค่ไหน ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามที่ได้รับการหารือจากหน่วยงานของรัฐ หรือตามการสั่งการของคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นเพียง “คำแนะนำ” ในการปฏิบัติราชการแก่หน่วยงานของรัฐเท่านั้น
หากจะมีผลทางกฎหมายก็คงมีผลทางกฎหมายแต่เฉพาะในความสัมพันธ์ภายในระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับหน่วยงานของรัฐที่ขอหารือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อหารือเท่านั้น
เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒
แต่บางรัฐบาลก็มิได้ดำเนินการตามความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เช่น คดีสนามกอล์ฟอันไพน์ นำไปสู่การติดคุกยกก๊วน
แต่ศาลอยู่นอกเหนือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อหารือ
ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด
ประเด็นมาอยู่ที่จริยธรรม
“ธรรมนัส พรหมเผ่า” มีปัญหาด้านจริยธรรมหรือไม่ และยื่นคำร้องให้ถูกช่องทาง น่าจะมีผลต่อตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรีมากกว่าที่พรรคก้าวไกลยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
ให้ดูกรณี “ปารีณา ไกรคุปต์” เป็นตัวอย่าง
การที่พรรคก้าวไกลจะตรวจสอบต่อ ด้วยการเข้าชื่อส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันนี้เห็นด้วย
เพราะ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” มีประเด็นด้านจริยธรรมต้องเคลียร์จริง ถ้าไม่จบกระเทือนไปถึงรัฐบาล
ดีกว่าที่ “ธนาธร” ไปวิจารณ์มั่วซั่วว่าศาลสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทยว่า อาชญากรหรือนักโทษเป็นรัฐมนตรีได้ ตราบใดที่ไม่ได้ต้องคดีในไทย
กรณี ทนง ศิริปรีชาพงษ์ หรือ ‘ป.เป็ด’
กรณี “ณรงค์ วงศ์วรรณ”
หรือกรณี “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ”
ไม่ว่าศาลไหน มีผลต่อตำแหน่งทางการเมืองทั้งสิ้น
เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน “ธนาธร” มีความผิดถือหุ้นสื่อ จนต้องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
เพราะอาชญากรทิ้งร่องรอยไว้เสมอ