นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า การปลดล็อกกัญชาเพื่อสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยได้ รวมทั้งการนำส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมีกระแสตอบรับอย่างดีและผู้ประกอบการให้ความสนใจในการปลูก แปรรูปในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงมีคำถามว่าประชาชนสามารถปลูกได้หรือไม่นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า การปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจาก อย. ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562ระบุผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน เป็นต้น โดยวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไข การอนุญาตมิได้ผูกขาดให้กลุ่มทุนใดเป็นการเฉพาะ และไม่ได้สงวนเฉพาะสำหรับภาครัฐ
แต่ทั้งภาคการเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือภาคการศึกษาสามารถปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชาได้ รวมทั้งเงื่อนไขการปลูกก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องปลูกแต่เฉพาะในโรงเรือนระบบปิดเท่านั้น ผู้ปลูกสามารถปลูกกลางแจ้งได้ แต่ต้องมีระบบการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้กัญชามีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และป้องกันการหลุดออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยการยื่นขออนุญาตปลูกกัญชาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า หากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาต้องการนำใบหรือส่วนต่าง ๆ ที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายก็สามารถทำได้ ด้วยการยื่นขอแก้ไขแผนการนำไปใช้ประโยชน์ที่ อย. ย้ำ ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่เป็นยาเสพติดได้ แต่ต้องได้มาจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย