พ่อแม่ต้องสังเกตโครงสร้างร่างกายลูกตั้งแต่วัยเด็ก หากเดินตัวเอียง ระดับหน้าอก สะโพกและหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน อาจเสี่ยงเป็นโรคกระดูกสันหลังคด แต่ถ้าหาหมอเร็วสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
กระดูกสันหลังคดเป็นโรคที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่มีภาวะกระดูกสันหลังคดตั้งแต่วัยเด็กและเห็นได้ชัดขึ้นหรือคดมากขึ้นเมื่ออยู่ในวัยเจริญเติบโต เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง โดยการคดแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือการคดแบบตัวซี (C) และการคดแบบตัวเอส (S)
ซึ่งการคดแบบตัวซีเป็นการคดหนึ่งตำแหน่ง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรังและอาจทำให้ไหล่กับสะโพกไม่เท่ากัน หากปล่อยไว้นาน ๆ หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนกระดูกคดเป็นลักษณะตัวเอสคือเป็นการคด 2 ตำแหน่ง เนื่องจากเมื่อความคดของกระดูกสันหลังในจุดหนึ่งมีมากจนร่างกายไม่สามารถมีสมดุลที่ดีได้ ร่างกายจะพยายามปรับสมดุลให้เกิดขึ้นใหม่โดยการงอกระดูกสันหลังส่วนที่เหลือไปอีกด้าน จึงทำให้กระดูกสันหลังคดเป็นลักษณะคล้ายตัวเอส ซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
นายแพทย์ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า นอกจากลักษณะของการคดแล้ว ยังมีการวัดมุมหรือความคดของแนวกระดูกสันหลังเป็นองศา หรือที่เรียกว่า Cobb angle โดยสามารถเห็นได้จากการเอกซเรย์ โดยโรคกระดูกสันหลังคดส่วนมากสังเกตได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงช่วงวัยรุ่น
เช่น ระดับของหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน ,กระดูกสะบักยุบนูนต่างกัน ,ระดับหน้าอกทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน ,ในเด็กผู้หญิงหน้าอกทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน ส่วนในเด็กผู้ชายอาจสังเกตได้จากระดับหัวนมไม่เท่ากัน ,สะโพกทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน ,ตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ,แนวกระดูกสันหลังไม่เป็นเส้นตรงหรือเอียงอย่างเห็นได้ชัด ,มีกระดูกนูนบริเวณหลังและนูนชัดขึ้นเมื่อก้มตัวไปด้านหน้า หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเพื่อไม่ให้แนวกระดูกคดเพิ่มจนเกิดภาวะแทรกซ้อน
“สำหรับผู้ป่วยที่มีความคดไม่เกิน 20 – 25 องศา ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการปวด แพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมพร้อมนัดติดตามเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของแนวกระดูกทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยที่มุมการคดมากกว่า 20 – 25 องศา แต่ไม่เกิน 40 – 45 องศา ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ หรือปวดเข่าแบบเรื้อรัง
ขึ้นอยู่กับลักษณะและตำแหน่งที่คด แพทย์จะแนะนำให้ใส่เสื้อดัดหลัง (Brace) อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อวัน ไปจนกว่าร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโต เพื่อชะลอหรือป้องกันไม่ให้แนวกระดูกคดมากกว่าเดิม แต่ในผู้ป่วยที่มุมการคดมากกว่า 40 – 45 องศา แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการปวดทรมาน หายใจลำบาก โครงสร้างร่างกายเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งมีแนวโน้มกระดูกคดเพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในไม่ว่าจะเป็นปอดหรือหัวใจได้” นายแพทย์ภัทรกล่าว
สำหรับการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคด แพทย์จะใช้สกรูตัวเล็ก ๆ ยึดกับกระดูกสันหลังและใช้โลหะพิเศษดามยึดสกรูแต่ละตัวเข้าด้วยกัน พร้อมกับดัดปรับมุมของกระดูกสันหลังให้กลับมาตรงปกติ ซึ่งในอดีตการผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังคดมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเนวิเกเตอร์ที่ช่วยกำหนดตำแหน่งและองศาที่แม่นยำ รวมถึงเทคโนโลยี Intraoperative Neuromonitoring ช่วยตรวจสอบการส่งสัญญาณของเส้นประสาท ลดความเสี่ยงการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทขณะผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัย แม่นยำและให้ผลการรักษาที่ดีกว่าเดิม
ทั้งนี้ พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตโครงสร้างร่างกายลูกตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยเจริญเติบโต หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพราะถ้าวินิจฉัยและเข้าสู่การรักษาได้เร็วก็มีโอกาสรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด