ใครเคยถูกต่อว่าว่าเป็นคนขี้ลืมหรือเปล่าคะ ถ้าไม่อยากลืมก็ต้องทบทวนบ่อย ๆ นะคะ เพราะ ลืม ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง หายไปจากความจํา นึกไม่ได้ นึกไม่ออก เช่น เขาลืมความหลัง ลืมชื่อเพื่อน ระลึกไม่ได้เพราะขาดความเอาใจใส่เป็นต้น เช่น ลืมทำการบ้าน ลืมรดน้ำต้นไม้ แต่ถ้าลืมไปประกอบกับคำอื่น เช่น
ลืมกลืน หมายถึง ชื่อขนมไทยชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งเท้ายายม่อม หรือแป้งถั่วกวนกับน้ำตาลทรายหยอดหน้าด้วยแป้งข้าวเจ้ากวนกับกะทิอย่างหน้าตะโก้ โรยหน้าด้วยถั่วทองคั่ว
ลืมคอน หรือบางครั้งใช้ว่า ลืมรัง หมายถึง ลืมกลับบ้าน ลืมบ้านเรือน เช่น เที่ยวเสียจนลืมรัง
ลืมต้น หมายถึง ลักษณะที่ผลไม้มีส้มโอเป็นต้น ซึ่งเก็บเอามาผึ่งไว้นานวัน เพื่อให้เปลือกเหี่ยวจะได้คลายความเปรี้ยวจัด เรียกว่า ลูกไม้ลืมต้น
ลืมตา หมายถึง เปิดกลีบตา ใช้ตรงข้ามกับ หลับตา โดยปริยายหมายความว่า เกิด เช่น ตั้งแต่ลืมตาดูโลกก็สบายมาตลอด
ลืมตาอ้าปาก หรือบางครั้งใช้ว่า ลืมหน้าอ้าปาก หรือ เงยหน้าอ้าปาก ก็ว่า หมายถึง มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อน เช่น เดี๋ยวนี้เขาลืมตาอ้าปากได้แล้ว เขาลืมหน้าอ้าปากได้แล้ว
ลืมเลือน หมายถึง ลืมไปบ้างหรือค่อย ๆ ลืมไปจากความทรงจำ เช่น เรื่องนี้ลืมเลือนไปบ้างแล้ว
ลืมหูลืมตา หมายถึง เปิดหูเปิดตารับรู้ความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ทั่วไป เช่น รู้จักลืมหูลืมตาดูโลกเสียบ้าง คำนี้มักใช้แก่ฝนในความปฏิเสธ หมายความว่า หนักมาก เช่น ฝนตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ลืมตัว หมายถึง ขาดสติไปชั่วคราว เผลอตัวไปชั่วคราว เช่น เวลาโกรธเขาลืมตัวไม่กลัวตาย
แต่ถ้าเป็น ลืมตน จะหมายถึง ขาดความระลึกถึงฐานะเดิมของตน ลืมนึกถึงฐานะของตนไปชั่วคราว เช่น ได้ดีแล้วอย่าลืมตน หรือหมายถึงลืมนึกถึงความจริงประการหนึ่งของโลกที่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงอาจแปรเปลี่ยนได้ เช่น เหลิงอำนาจจนลืมตน รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าเผลอลืมตนนะคะ เดี๋ยวคนเขาจะหาว่าเป็นวัว.
จินดารัตน์ โพธิ์นอก
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา