คุณวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการ และวิศวกรรมระบบราง และคุณวัฒนา สิทธิไวทยาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ งานวางแผนโครงการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วย MR.TOMASZ MAZUR CEO บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด นำคณะสื่อมวลชนไทย ลัดฟ้าดูความคืบหน้างานผลิตตู้โดยสาร และโบกี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (BLUE LINE-MRT) ที่โรงงานผลิต ณ กรุงเวียนนา (VIENNA) และเมืองกราซ (GRAZ) สาธารณรัฐออสเตรีย (AUSTRIA) ซึ่งเป็นโรงงานประกอบรถไฟฟ้าขบวนใหม่ของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย
บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด เป็นคู่สัญญาซื้อขายกับ BEM ที่จะนำรถไฟฟ้าดังกล่าวมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม (MRT) และส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง รวมทั้งส่วนต่อขยายเตาปูน-ท่าพระ ที่อยู่ระหว่างเตรียมการเดินรถในเร็วๆ นี้
BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งโครงข่าย เป็นผู้จัดเตรียมขบวนรถไฟฟ้า เพื่อรองรับการให้บริการส่วนต่อขยายที่จะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ BEM ได้จัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มจำนวน 35 ขบวน โดยส่งมอบขบวนแรกเดือนเมษายน 2562 ปัจจุบันส่งมอบแล้ว 19 ขบวน นำไปทดสอบระบบแล้ว 16 ขบวน อยู่ระหว่างรอนำไปทดสอบระบบ 3 ขบวน และจะทยอยส่งมอบอีก 35 ขบวนภายในเดือนมีนาคม 2563
โดยในช่วงต้นเดือน พฤศจิกายน 2562 ได้เริ่มดำเนินการทดสอบระบบแล้ว คาดว่าหลังจากนี้อาจเปิดให้ผู้โดยสารทดลองใช้ หรือที่เรียกว่า Demo Run โดยเบื้องต้นต้องรอให้ได้ Certificate ระบบอาณัติสัญญาณจากวิศวกรอิสระจากบริษัท Siemens ก่อน
ที่โรงงานเวียนนา คณะสื่อมวลชนได้รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมของโรงงานและชมการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีการจำลองรถไฟเสมือนจริงอันทันสมัย เพื่อให้เห็นการทำงานที่ซับซ้อนของชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ของรถไฟฟ้า โดย MR.ARNULF WOLFRAM CEO Siemens Mobility Austria GmbH หลังจากจบการบรรยายสรุป เจ้าหน้าที่ระดับสูงนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมขั้นตอน และกระบวนการประกอบรถไฟฟ้าในโรงงาน
ที่โรงงานผลิตโบกี้รถไฟ เมือง GRAZ คณะสื่อมวลชนได้เข้าฟังการบรรยายสรุป โดย MR.MARKUS WENING CFO Siemens Mobility Austria GMbH หลังจากจบการบรรยาย ได้เข้าเยี่ยมชม World Competence Center Bogies (Siemens Mobility Graz) โรงงานผลิตโบกี้หรือแคร่ล้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด หรือถือได้ว่าเป็นหัวใจของรถไฟฟ้าแต่ละขบวน ในการขับเคลื่อนขบวนรถ และรองรับน้ำหนักตู้โดยสารทั้งหมดอีกด้วย
สำหรับกระบวนการผลิตรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens ในส่วนตัวตู้โดยสารผลิตที่โรงงาน Siemens ประเทศตุรกี (TURKEY) ส่วนเครื่องยนต์ หรือ BOGIES และระบบปฏิบัติการทั้งหมด ผลิตที่ Siemens Mobility Austria GMbH เมืองกราซ (GRAZ) ประเทศออสเตรีย ก่อนที่จะนำ 2 ส่วนเข้ามาประกอบที่โรงงาน Siemens Mobility Austria GmbH (VIENNA) กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
“รถไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่กำลังผลิต BEM จะนำมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม (MRT) และส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง รวมทั้งส่วนต่อขยาย เตาปูน-ท่าพระที่กำลังจะเริ่มเดินรถเร็วๆ นี้ สำหรับขบวนรถทั้งหมด 35 ขบวนนั้น สเปกต่าง ๆ คล้ายของเดิม แต่มีการเพิ่มเติมเทคโนโลยีให้ทันสมัยมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ Operator โดยสิ่งที่ผู้โดยสารจะเห็นได้ชัดขึ้นคือการติดตั้งจอระบุพิกัดว่าตอนนี้อยู่สถานีอะไร สถานีหน้าคืออะไร มีระบบ CCTV ในรถ เป็นต้น” นายวิทูรย์ กล่าวและชี้แจงเพิ่มอีกว่า
อัตราผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม รวมถึงส่วนต่อขยายบางซื่อ-เตาปูนนั้น ในช่วงหนาแน่นนั้นประมาณ 4.7 แสนคน/วัน โดยปัจจุบันความถี่ในการเดินรถของ BEM อยู่ที่ 3.25 นาที/ขบวน (อัตราความถี่สูงสุดในปัจจุบัน 2 นาที/ขบวน) ส่วนอัตราการเติบโตของผู้โดยสารนั้น ที่คำนวณไว้จะเติบโตประมาณปีละ 4-5% อย่างไรก็ตามตัวเลขทั้งหมดต้องรอดูตามการประมาณการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยBEM จะคงอัตราค่าโดยสารเดิมระหว่าง 16-42 บาท แม้จะมีการขยายเส้นทางเพิ่มก็ตาม
การนำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยระดับโลกของบริษัทซีเมนส์ในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสากลของรถไฟฟ้าที่ BEM เลือกใช้ และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน – ท่าพระ ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2563
ทั้งนี้ บริษัทซีเมนส์จะส่งมอบรถไฟฟ้าขบวนสุดท้ายให้กับ BEM ภายในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งจะทำให้มีรถไฟฟ้าขบวนใหม่ครบ 35 ขบวน รวมมีรถไฟฟ้าให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งหมด 54 ขบวน
ภัทรพร สมบูรณ์สินชัย
รายงานจาก กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย