กระทรวงสาธารณสุข จับมือเครือข่ายบริหารจัดการเตียง ยันมีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิดรวม 9 พันกว่าเตียง โรงพยาบาลตติยภูมิทุกเครือข่ายพร้อมขยายเตียงไอซียูเพิ่ม 50-100 เปอร์เซ็นต์ รับผู้ป่วยหนัก กทม. เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มรวมเกือบ 3 พันเตียง สบส.จัดหา Hospitel 7,200 เตียง ด้าน สพฉ.ร่วมสำนักเทศกิจแก้ปัญหารถรับส่งผู้ติดเชื้อ คาด 1-2 วันเคลียร์ได้ ส่วนการรักษาตัวที่บ้านเป็นแนวทางอนาคต ยังไม่นำมาใช้ตอนนี้
19 เมษายน 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ผู้ติดโควิด 19 ทุกคนอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งให้โรงพยาบาลหรือแล็บเอกชนที่ตรวจพบประสานในเครือข่ายให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ทุกรายด้วย โดยขณะนี้ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร UHOSNET และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน บริหารจัดการเตียงเพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อ พร้อมเปิด 3 สายด่วนเพื่อประสานหาเตียง คือ 1330 1668 และ 1669 รวมถึง “สบายดีบอต”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการพบผู้ติดเชื้อยังไม่ได้นอนโรงพยาบาล ไม่ได้แปลว่าเตียงไม่พอ แต่เกิดจากแล็บเอกชนไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาล หรือการที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังไม่มีการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ อีกทั้งการค้นหาเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ต้องใช้เวลาในการประสานจัดหาเตียง
สำหรับการบริหารจัดการเตียงจะคัดกรองและแบ่งผู้ติดเชื้อออกเป็น 3 ระดับ คือ สีเขียวไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย อายุไม่มาก ไม่มีโรคร่วม หากมาจากการค้นหาเชิงรุกจะส่งดูแลใน รพ.สนาม หากมาจากการไปตรวจแล็บหรือโรงพยาบาลให้นำส่งเข้าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) หรือรพ.สนาม ซึ่งทั้งสองส่วนดำเนินการตามมาตรฐานสถานพยาบาล มีการให้ปรอทวัดอุณหภูมิและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อตรวจติดตามอาการทุกวัน หากมีอาการมากขึ้นจะส่งกลับเข้าโรงพยาบาลทันที ส่วนสีเหลืองและสีแดงที่มีอาการเพิ่มมากขึ้นจะรับไว้รักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด โดยศูนย์ส่งต่อ รพ.ราชวิถีจะเวียนส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และ รพ.เอกชน โดยทุกโรงพยาบาลสำรองเตียงไอซียู เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจมีอาการมากขึ้น
“ขณะนี้มีเตียงรวม 9 พันกว่าเตียง เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วที่มี 7 พันกว่าเตียง โรงพยาบาลทุกสังกัดมีการเบ่งเตียงเพิ่มขึ้น กทม.ก็ขยายรพ.สนาม ส่วนรถรับส่งผู้ติดเชื้อทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เข้ามาช่วยบริหารจัดการให้มีรถมากขึ้น ขณะนี้มี 50 คันจาก 3 บริษัทดูแลใน กทม. และจะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศ คาดว่าภายใน1-2 วันจะแก้ไขปัญหานี้ได้ สำหรับแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมไม่ได้นำไปใช้จริงในช่วงนี้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น ยังนำผู้ติดเชื้อทุกรายเข้ารับการรักษาได้” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดระบบทางด่วนให้รพ.เอกชนขออนุมัติขยายเตียงได้คล่องตัวขึ้น ทำให้เพิ่มเตียงได้มาก และจัดหาโรงแรมมาเป็น Hospitel โดยมีที่ผ่านการรับรอง 34 แห่ง รวม 7,200 กว่าเตียง มีผู้ป่วยพักแล้ว 2 พันกว่าราย ส่วนกรณีคลินิกเอกชนที่ตรวจหาเชื้อโควิด เมื่อพบเชื้อให้ผู้ป่วยไปหาสถานพยาบาลเอง ได้ออกประกาศให้คลินิกแล็บต้องให้คำแนะนำและประสานจัดหาเตียง ส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเพื่อรักษาทันที ถ้าไม่ดำเนินการถือว่าผิดกฎหมาย และหากทำผิดซ้ำอาจพิจารณาให้หยุดบริการหรือสั่งปิดได้
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การติดเชื้อระลอกนี้พบผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวค่อนข้างมาก แต่มีโอกาสอาการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลืองและสีแดงได้ จึงต้องเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
ซึ่งโรงพยาบาลตติยภูมิทุกเครือข่ายได้ร่วมกันขยายเตียงไอซียูเพิ่ม 50-100 เปอร์เซ็นต์ อาจลดบริการบางส่วนเพื่อนำเตียงไอซียูและบุคลากรมาเสริม ส่วนแผนขั้นต่อไปหากมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น อาจจัดตั้งไอซียูสนาม ซึ่งจัดเตรียมได้ทันที เนื่องจากได้เตรียมการไว้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลทุกเครือข่ายเตรียมพร้อมดูแลอย่างเต็มที่ สิ่งที่สำคัญต้องขอความร่วมมือประชาชนเข้มมาตรการป้องกันตนเอง ยกการ์ดสูง เพื่อสู้กับโควิด 19 ให้ผ่านไปอีกครั้ง
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุกใน กทม.เข้าสู่ระบบการจัดหาเตียงเฉลี่ยวันละ 120-140 ราย โดยกลุ่มสีเขียวจะรับไว้ดูแลที่โรงพยาบาลสนามเป็นหลักภายใต้มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมี 1,656 เตียง ใช้ไปแล้ว 1,275 เตียง โดยวันที่ 20 เมษายนจะเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม 1,100 เตียง และเปิดเพิ่มที่นนทบุรีและนครปฐมอีก 170 เตียง รวมแล้วจะมีเตียง 2,926 เตียง
นอกจากนี้ เตรียมประสาน Hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ตกค้างที่บ้านด้วย สำหรับการรับส่งผู้ป่วยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักเทศกิจ 50 เขตร่วมกับ สพฉ. นำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาให้มากและเร็วที่สุดคาดว่า 1-2 วันจะแก้ปัญหาได้
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนได้ดำเนินการรองรับภาวะวิกฤตที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ได้ให้เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนเปิด Hospitel ที่ผ่านการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และขยายเตียงในโรงพยาบาล เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนมีคนไข้ค้างประมาณ 250-300 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มทุกวัน แต่ละคนต้องดูแลรักษา 14 วัน และระยะหลังพบผู้ติดเชื้อลงปอดเร็วมากขึ้น ต้องนำส่งกลับมารักษาในโรงพยาบาล จึงจำเป็นต้องใช้เตียงเพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งจึงขยายเตียงรองรับ
เช่น กลุ่มโรงพยาบาล BCH เดิมมีเตียงโควิด 19 ในเครือไม่เกิน 300 เตียง ปัจจุบันขยายเป็น 665 เตียง และขอความร่วมมือเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนใน กทม. กระตุ้นให้โรงพยาบาลที่รับการตรวจหาเชื้อมีการขยาย Hospitel รองรับภายในเครือข่าย เพื่อไม่ให้คนไข้เดือดร้อน โดยกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผ่านวิกฤตไปด้วยกัน