8 เมษายน 2564 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้ายื่นคำร้องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ม.170(5)
ประกอบมาตรา 184 (2) และมาตรา 186 หรือไม่ สืบเนื่องจาก ภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา โดยนายประเสริฐ กล่าวว่าภายหลังการยื่นคำร้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ส.ส.พรรคเพื่อไทยรวม 75 คนลงรายมือชื่อเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเอาคำร้องของ ส.ส. ส่งไปยังศาล รธน. เพื่อวินิจฉัยสถานภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายยุทธพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า สืบเนื่องจากการอภิปรายเรื่องรถไฟฟ้าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา สส.พรรคเพื่อไทยลงชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถาภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ม.170(5) ประกอบมาตรา 184 (2) และมาตรา 186 หรือไม่ โดยในช่วงที่พลเอกประยุทธ์ เป็นรัฐบาลรักษาการและหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 3/2562
โดยผลของคำสั่งคือ เกิดการผูกขาดตัดตอนไม่ให้มีการแข่งขันการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่เปิดให้เกิดการแข่งขัน เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว และยังไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แทนที่นายกฯจะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับใช้ ม.44 ยกเว้นกฎหมาย โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 184 (2) ที่บัญญัติไว้ว่า
“ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” ซึ่งการก้าวก่ายแทรกแซงดังกล่าว พรรคเพื่อไทยเห็นดังกล่าวจึงได้รวบรวมชื่อพร้อมหลักฐานเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต่อไป