เกวียน เป็นพาหนะที่คนไทยแต่ก่อนนิยมใช้ กงเกวียน คือ วงรอบของล้อเกวียน ส่วน กำเกวียน (คำว่า กำ เขียน ก ไก่ สระอำ) คือ ซี่ล้อซึ่งตรงกลางมีดุมที่มีรูสำหรับสอดเพลาเป็นแกนยึดล้อ ๒ ข้าง เมื่อกงเกวียนหมุนไปทางใด กำเกวียนก็หมุนตามไปทางนั้น
ในภาษาไทยมีสำนวนเปรียบเทียบว่า กงเกวียนกำเกวียน หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่มีผลต่อผู้กระทำนั้นๆ เช่น เขาทำบาปมาตลอดชีวิต จึงต้องทุกข์ทรมานเช่นนี้ นี่แหละกงเกวียนกำเกวียน
สำนวนนี้มักใช้กันผิดๆ ว่า กงเกวียนกรรมเกวียน (คำว่า กรรม เขียน ก ไก่ ร หัน ม ม้า) เพราะเข้าใจว่า “กำ” ในสำนวนนี้คือ “กรรม” ซึ่งแปลว่า การกระทำ บ้างก็ใช้คำผิดและยังลำดับคำผิดเป็น “กงกรรมกงเกวียน” ก็มี ที่ถูกต้องคือ กงเกวียนกำเกวียน จำง่าย ๆ ว่า กง (ของ) เกวียน และ กำ (ของ) เกวียน
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.