โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือที่รู้จักในชื่อ โรคตื่นตระหนก หรือบางแห่งใช้คำว่า มีภาวะตื่นตระหนก อาจจะฟังดูแปลกใหม่สำหรับคนไทย ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการแสดงที่พบได้บ่อย คือ มีความรู้สึกกลัว กังวล หรือกระวนกระวายใจขึ้นมาอย่างมากโดยไม่มีสาเหตุ มีอาการทันที หลายครั้งที่ผู้ป่วยไม่สามารถอธิบายความรู้สึกตื่นกลัว ออกมาเป็นคำพูดได้ ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจ
นอกจากนี้ผู้ป่วยหลายคนมักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตัวสั่น รู้สึกเย็นวูบหรือชาตามมือและเท้า ใจเต้นเร็ว เต้นแรง ใจหวิวๆ มีอาการคล้ายจะเป็นลม ในบางรายอาจมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน มวนท้อง หรืออาจมีภาวะหายใจเข้าลำบาก หายใจสั้น แน่นหน้าอก และมีอาการมือจีบเกร็งร่วมด้วย โดยทั่วไประยะเวลาที่มีอาการ จะนานไม่กี่นาทีหรืออาจอยู่นานถึงครึ่งชั่วโมง
ดร.พญ.ประวีณ์นุช เพ็ญภาสกานต์ จิตแพทย์ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว อธิบายว่าจากอาการแสดงดังกล่าว มักจะสร้างความกังวลให้ผู้ป่วยมากขึ้น กลัวว่าจะมีอาการเกิดซ้ำอีกหรือไม่ ผู้ป่วยจึงไม่กล้าออกไปไหนมาไหนคนเดียวกลัวว่าจะมีอาการแล้วไม่มีผู้ช่วยเหลือ หรือไปห้องฉุกเฉินเมื่อมีอาการทันที และเมื่อผลตรวจ ไม่พบความผิดปกติก็มักจะสร้างความกังวลต่อเนื่องให้ผู้ป่วย กลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรง
เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคเส้นเลือดในสมอง ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ทำให้เปลี่ยนสถานที่รักษา และพยายามหาสาเหตุอาการเกิดเป็นความเครียด กังวลเรื้อรัง มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สมาธิการทำงาน ในบางรายอาจจะนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้า
ปัจจุบันทางการแพทย์พบว่า โรคแพนิค มีสาเหตุจากการทำงานผิดปกติของสมองโดยที่สมอง ตีความสิ่งเร้าซึ่งสิ่งกระตุ้นที่ไม่อันตรายกลายเป็นสิ่งอันตราย จึงเกิดปฏิกิริยาของร่างกายที่รุนแรงขึ้นทันที และพบว่าเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมองที่เสียสมดุลจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม ความเครียด เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคแพนิค จำเป็นต้องแยกโรค จากโรคทางกายอื่นๆ ที่อาจจะแสดงอาการคล้ายกับโรคแพนิค เช่น โรคไทรอยด์ หรือโรคความผิดปกติทางฮอร์โมนต่างๆ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น การวินิจฉัยโรคแพนิค ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากคนรอบตัวมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ หรือจิตแพทย์ เพื่อรับการรักษาโรคแพนิคเป็นโรคที่รักษาได้โดยการรับประทานยา เพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมองและการทำจิตบำบัดเพื่อปรับวิธีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ปรับวิธีการดำเนินชีวิต เพื่อลดความตึงเครียด ทำให้คุณภาพชีวิต การทำงาน การเข้าสังคมดีขึ้น
ปัจจุบัน คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการให้บริการปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคทางจิตเวชต่างๆ พร้อมด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยทำให้การรักษาสามารถทำได้อย่างครบวงจร และคลินิกอายุรกรรมพร้อมเปิดบริการตั้งแต่ 07.00 – 24.00 น.