ทำความเข้าใจกับคนหนังไทย (อีกวัน) – สันต์ สะตอแมน

ผสมโรง

สันต์ สะตอแมน

            ว่ากันต่อเลยนะ..

            การจัดเรตติ้งหนัง ต้องเข้าใจกันตรงกันว่า..เป็นหน้าที่ของ “เจ้าของหนัง” ในการ “กำหนดเรต” หนังของตนเอง โดยใช้กรอบกฎหมายมาตรา 26 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง..ไม่ใช่คณะกรรมการพิจารณาฯ ภาพยนตร์เป็นผู้กำหนดเรต!

             และในมาตรา 66 บอกว่า..หากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ไม่เห็นชอบตามคำขอของเจ้าของหนัง หรือมีคำสั่งจัดเรตต่างไปจากเรตที่เจ้าของหนังขอไป

             เจ้าของหนังมีสิทธิ “อุทธรณ์คำสั่ง” ต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

กฎหมายยังกำหนดให้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนด ให้ถือว่าเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์

            จะว่าไป..กฎหมายในเรื่อง “สิทธิอุทธรณ์” นี้ นับเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเจ้าของหนัง แต่ในเชิงปฏิบัติแทบจะไม่มีเจ้าของหนังใช้สิทธิตามมาตรา 66 กันเลย

            นั่นเป็นเพราะเจ้าของหนังมักส่งหนังพิจารณาเห็นชอบการจัดเรตกระชั้นกับวัน (กำหนด) ฉายภาพยนตร์ หากใช้สิทธิก็จะไม่สามารถฉายหนังได้ตามโปรแกรมที่วางไว้

            เจ้าของหนังจึงมักยินยอมที่จะตัดฉากบางฉาก หรือการเพิ่มคำเตือนในหนัง ตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาฯที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายสำคัญอีกมาตราหนึ่ง..

คือ “มาตรา29” ที่กำหนดอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เหมือนกับการเซ็นเซอร์ในอดีต!

เหมือนอย่างไร ก็ดูในตัวบท.. “มาตรา29 ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่า

ภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และเกียรติภูมิของประเทศไทย

            ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้”

            จะเห็นชัดว่าระบบการจัดเรตติ้งมาตรา 25 เพื่อพิจารณาจัดเรตหนังเป็นหนึ่งในเจ็ดประเภทตามมาตรา 26 จะถูก Over rule โดยมาตรา 29 ทันที

            ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 25 และมาตรา 29 ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์

            เมื่อเข้าใจกฎหมายแล้ว ก็ขอย้ำ “การจัดเรตติ้งเป็นหน้าที่ของเจ้าของหนัง” ไม่ใช่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ

ฉะนั้น เจ้าของหนังต้องศึกษาข้อกฎหมายให้รอบคอบ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา และเป็นไปได้ต้องเร่งส่งหนังให้คณะกรรมการพิจารณา เป็นเวลาล่วงหน้าก่อนหนังเข้าฉาย..

เพื่อให้แก้ไขปัญหาที่ (อาจ) เกิดขึ้นได้ครับ!

Written By
More from pp
กรุงศรี มอเตอร์ไซค์ ร่วมแจกหน้ากากอนามัย ส่งมอบความห่วงใยแก่ กองอำนวยการร่วมถวายความปลอดภัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และผู้ใช้รถจักรยานยนต์
“กรุงศรี มอเตอร์ไซค์” ผู้นำธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ครบวงจร เครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นำโดย นางกฤติยา ศรีสนิท  ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มอบหน้ากากอนามัยแก่...
Read More
0 replies on “ทำความเข้าใจกับคนหนังไทย (อีกวัน) – สันต์ สะตอแมน”