20 มี.ค.64 – เวลา 17.55 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทอดพระเนตรงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ และทรงเปิดวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายเด่นชัย ศรีจุลฮาต ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, ม.ร.ว.พรรณนภา ดิศกุล ที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ พร้อมข้าราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ
การนี้ รถยนต์พระที่นั่งเทียบหน้าพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระที่นั่งวโรภาษพิมานทรงวางพวงมาลัยที่พระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ
เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี วางพวงมาลัย จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร กราบ
จากนั้นเสด็จเข้าห้องประทับรับรอง ประทับพระราชอิริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย สมควรแก่เวลา เสด็จลงจากพระที่นั่งวโรภาษพิมานไปยังท่าเทียบเรือตำหนักแพ ประทับเรือยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังท่าเทียบเรือหน้าวัดนิเวศธรรมประวัติ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
ต่อมา เสด็จออกจากพระอุโบสถ ไปยังพิพิธภัณฑ์วัดนิเวศธรรมประวัติ เสด็จเข้าภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ จปร. เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการ แล้วเสด็จฯ ไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์ตาลปัตร(หอกลอง) ทอดพระเนตรการจัดแสดงตาลปัตร พัดรองที่ระลึก จากนั้นประทับรถยนต์ไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังพลับพลาพิธีหน้าอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.กระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการสร้างอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร วัดนิเวศธรรมประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากพลับพลาพิธีไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “อาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร” พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตรดุริยางค์ เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนภัตตาหารกลางวัน และการอาพาธของนักเรียนสามเณร
พระปริยัติสารสุธี (อเนก มนุญโญ) เจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา (ธรรมยุต) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ ถวายพระพุทธรูป (พระนิรันตราย) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระครูอินทรวราจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ ถวายพระพุทธรูป (พระนิรันตราย) แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระครูโสภณปัญญาคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ มอบพระพุทธรูป (พระนิรันตราย) แด่เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นจัน เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ปลูกต้นจัน แล้วเสด็จฯ ไปยังอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ประวัติความเป็นมาวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร, พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ การจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ ตามพระบรมราโชบายฯ, รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ ประกอบด้วย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรระยะสั้น ผลงานเด่นนักเรียนนักศึกษา เป้าหมายการต่อยอดการจัดการศึกษาในอนาคต ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ฯ สำหรับพระภิกษุ สามเณร และกิจกรรมของจิตอาสา
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคณะกรรมการดำเนินงาน แล้วประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังท่าเทียบเรือหน้าวัดนิเวศธรรมประวัติไปยังท่าเทียบเรือตำหนักแพ เสด็จขึ้นจากท่าเทียบเรือตำหนักแพ ไปยังพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ประทับพักพระราชอิริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย สมควรแก่เวลา เสด็จลงจากพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ประทับรถยนต์พระที่ยั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ และทรงเปิดวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ ครั้งนี้ มีพสกนิกรชาวพระนครศรีอยุธยาจากอำเภอต่างๆ มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ตลอดสองฝั่งถนนของเส้นทางเสด็จฯ ทุกคนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง โบกธงพระปรมาภิไธย “วปร.” และธงพระนามาภิไธย “สท.” พร้อมเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ต่างปลื้มปีติที่ได้ชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงโบกพระหัตถ์ และแย้มพระสรวลให้แก่พสกนิกรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ขณะที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนผ่านอย่างช้าๆ
ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองแพทย์หลวงสำนักพระราชวัง ร่วมกับโรงพยาบาลและหน่วยสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ออกให้บริการด้านสาธารณสุข ดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่พสกนิกรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย แอมโมเนีย พิมเสนน้ำ การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติแก่ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับประวัติความเป็นมาของวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษาในปี 2555 คณะสงฆ์พร้อมด้วยอุบาสถ อุบาสิกาวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นองค์อุปถัมภ์ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ทางวัดจึงประสานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากร จัดตั้งสถาบันเสริมทักษะการเรียนรู้สำหรับพระภิกษุ สามเณร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา โดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2559 และเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ที่เป็นพระภิกษุ สามเณร มีโอกาสได้ศึกษาต่อและเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา ด้านอาชีวศึกษาให้กับพระภิกษุ สามเณร ให้มีสมรรถนะและทักษะวิชาชีพในการปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม
ปัจจุบันวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นใน 5 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ, สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ, สาขาวิชาช่างยนต์, สาขาวิชาเทคนิคอุตสาหกรรม และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมส์และแอนิเมชั่น มีพระภิกษุและสามเณรนักเรียน จำนวน 120 รูป โดยวิทยาลัยได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับสถานศึกษาและสถานประกอบการที่หลากหลายครอบคลุมในทุกสาขาวิชา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้ มาใช้ในการพัฒนาพระภิกษุ สามเณรนักเรียน ให้มีความเชี่ยวชาญ และก้าวทันกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ควบคู่กับการเป็นศาสทายาทที่ดี มีศีล มีธรรมดังอัตลักษณ์ของวิทยาลัย
“ความรู้ดี ทักษะเด่น เน้นคุณธรรม ดำรงพระพุทธศาสนา”