ความไม่สงบจากการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงที่ต่อต้านกองทัพเมียนมาที่เข้าทำการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของพรรค NLD ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่ง ณ ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 200 คน และมีประชาชนชาวเมียนมาในเมืองต่างๆ เริ่มอพยพออกจากเมืองกันแล้ว โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ รวมทั้งเมืองชายแดนที่มีการปะทะ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการตรวจสอบตามแนวเขตรอยต่อระหว่างไทยและเมียนมา ที่พบว่าเริ่มมีชาวเมียนมาเตรียมลี้ภัยข้ามแดนมาฝั่งไทย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักของการอพยพ
ล่าสุดฝั่งของไทยก็มีการเตรียมความพร้อมรับคลื่นผู้อพยพแล้วโดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกพร้อมคณะเดินทางตรวจความพร้อมพื้นที่รองรับผู้ลี้ภัยการสู้รบชาวเมียนมา ในพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งพื้นที่แรกรับผู้อพยจะถูกจัดเอาไว้ 7 แห่ง ได้แก่
อำเภอท่าสองยาง เตรียมสนามฟุตบอลบ้านสวนอ้อย ตำบลท่าสองยาง เป็นสถานที่แรกรับ และเตรียมสถานที่โรงเรียนชุมชนท่าสองยาง เป็นที่รวบรวมพลเรือนที่ลี้ภัยการสู้รบ
อำเภอแม่ระมาด เตรียมพื้นที่บริเวณท่าเรือที่ 19 บ้านวังผา ตำบลแม่จะเรา อำเภอแม่ระมาด เป็นสถานที่แรกรับผู้อพยพ
อำเภอพบพระ ได้เตรียมพื้นที่แรกรับ ที่ อบต.วาเล่ย์ ตำบลวาเล่ย์
พื้นที่รวบรวมผู้หนีภัยจากการสู้รบที่โรงเรียนบ้านมอเกอไทย ตำบลวาเล่ย์
อำเภอแม่สอด เตรียมพื้นที่สนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน ตำบลแม่ปะ เป็นที่รวบรวมพลเรือน
สนามฟุตบอล กองร้อย ตชด.ที่ 346 ตำบลท่าสายลวด เป็นพื้นที่รวบรวมผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ
พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่าขณะที่ทางฝ่ายความมั่นคงของไทยได้เฝ้าระวังตามแนวชายแดนอย่างเข้มข้น ซึ่งจังหวัดตากได้มีการเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น หากเกิดเหตุมีคนทะลักเข้ามาเราจะรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับเราอีก และสกัดกั้นการกระทำความผิดกฎหมาย
ที่ต้องติดตามคือ ขณะนี้กองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในเมียนมาต่างเริ่มเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนการยึดอำนาจ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมที่อาจจะเกิดการปะทะของทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อย และกองทัพเมียนมา มันจะยกระดับไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งจะนำความเสียหายอย่างมา
ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับเมียนมาจะต้องเตรียมแผนการรับมือผลกระทบทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้