กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของไทยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เผยการเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที มีความจำเป็น แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ซึ่งปกติจะสังเกตอาการ 15 นาที แต่ระบบของประเทศไทยเพื่อความปลอดภัยจะให้อยู่สังเกตอาการในสถานที่นั้นๆ เป็นเวลา 30 นาที
วันนี้ (6 มีนาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สำหรับในระยะแรกที่วัคซีนมีจำกัด 2 ล้านโดสของบริษัทซิโนแวค จึงฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงก่อน
ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ อสม. เป็นต้น และประชาชนที่มีโรคประจำตัว ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังต้องระงับการฉีดวัคซีนของซิโนแวคไว้ก่อน เนื่องจากมีผลการศึกษาวิจัยในกลุ่มอายุดังกล่าวน้อย
ขณะนี้ได้มีการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่เสี่ยงใน 13 จังหวัดแล้ว และได้ดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องมาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งได้รับรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนประปรายในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที โดยหลังรับวัคซีนจะมีการสังเกตอาการเพื่อดูว่ามีการแพ้วัคซีนหรือไม่ ซึ่งปกติจะสังเกตอาการ 15 นาที แต่ระบบของประเทศไทยเพื่อความปลอดภัยจะให้อยู่สังเกตอาการในสถานที่นั้นๆ เป็นเวลา 30 นาที ตามโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัยอย่างรอบคอบ และเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการใดๆ ก่อนจะอนุญาตให้กลับบ้านและนัดให้มาฉีดเข็มที่สองต่อไป
รวมถึงให้คำแนะนำ แผ่นพับในการเฝ้าระวังอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ และเบอร์ติดต่อกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ
สำหรับการเฝ้าระวัง สังเกตและติดตามอาการหลังรับวัคซีน นั้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการดังนี้ สังเกตและถามอาการหลังฉีดทันที, เฝ้าระวังและสังเกตอาการในสถานที่รับวัคซีน 30 นาที จากนั้นจะมีการติดตามอาการอีกในวันที่ 1, 7 และ 30 ผ่านทางไลน์ “หมอพร้อม” หรือมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล, รพ.สต. หรือ อสม. เป็นผู้ติดตามอาการ
ทั้งนี้ ผู้ที่รับวัคซีนควรสังเกตอาการต่อไปจนครบ 30 วันตามโปรแกรมที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัย
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
1.อาการไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และปวดบริเวณที่ฉีด หากมีอาการเหล่านี้หลังฉีดขอให้รายงานในระบบไลน์ “หมอพร้อม” ซึ่งอาการเพียงเล็กน้อยเหล่านี้จะหายได้ภายใน 1-2 วัน และ
2.อาการรุนแรง ได้แก่ ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก และหมดสติ
ถ้ามีอาการขณะเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที ขอให้รีบแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่สังเกตอาการทันที แต่หากกลับบ้านแล้วเกิดอาการดังกล่าว ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว
หรือโทรสายด่วน 1669 เพื่อแจ้งรถพยาบาลมารับหรือถ้าหมดสติให้ญาติรีบพาไปโรงพยาบาลทันที