ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับมอบอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รับส่งต่อผู้ป่วยอุบัติเหตุในพื้นที่ภาคอีสาน เพิ่มพื้นที่ให้บริการ ลดแออัด ลดรอคอย
1 มีนาคม 2564 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานรับมอบอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พร้อมครุภัณฑ์ทางการแพทย์
โดยมีนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.พงษ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 และนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และคณะผู้บริหาร ร่วมพิธี
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า การก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้บริการ ลดแออัด ลดรอคอย เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนเดินทางผ่านไปยังจังหวัดภาคอีสาน และภาคเหนือ
โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาคที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวนเตียงประมาณ 1,300 เตียง ดูแลรับส่งต่อใน เขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ และจังหวัดใกล้เคียง
เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง หลอดเลือดสมอง ทารกแรกเกิด ปลูกถ่ายอวัยวะ ทำให้มีผู้รับบริการจำนวนมาก มีผู้ป่วยประมาณ 1.1 แสนคนต่อเดือน แบ่งเป็นผู้ป่วยในวันละ 1,600-1,700 คน ผู้ป่วยนอกวันละกว่า 4,300 คน ผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินมากถึง 300 รายต่อวัน แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล
สำหรับอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับเป็นประธานจัดหาทุนก่อสร้างอาคาร ได้พระราชทานทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท และพระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา”
โดยมีพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) และหลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตารับเป็นประธานจัดสร้างอาคาร ซึ่งก่อสร้างพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ จากเงินบริจาคทั้งหมด 1,398 ล้านบาท
เป็นเงินที่ประชาชนร่วมทำบุญผ้าป่าและร่วมบริจาคก่อสร้างอาคาร 748 ล้านบาท และงบที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดซื้อครุภัณฑ์ที่จำเป็น จำนวน 650 ล้านบาท
เป็นอาคารสูง 12 ชั้น ประกอบด้วย ศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อน หอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ หอผู้ป่วยวิกฤตทางอุบัติเหตุ หอผู้ป่วยอุบัติเหตุทั่วไป หอผู้ป่วยพิเศษ และลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เปิดให้บริการแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา