เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน)ได้เปิดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟอร์รี่เกาะพะลวย ขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ที่อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านเกาะพะลวย หมู่ 6 ตำบาลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการ เช่น อำเภอเกาะสมุย สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเกาะสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย และชาวบ้านบนเกาะพะลวยจำนวนมากเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
ทั้งนี้ การดำเนินการเป็นไปด้วยดี มีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจำนวนมาก มีผู้เห็นด้วยมากถึง 190 ราย หรือคิดเป็น ร้อยละ 97.93 และมีผู้ไม่เห็นด้วยเพียง 4 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2.07 เนื่องจากท่าเรือราชาเฟอร์รี่ได้มีการชี้แจงและนำเสนอข้อมูลแบบการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ปรับแก้ตามคำแนะนำของกรมเจ้าท่า เพื่อแก้ความกังวลของชาวบ้านในพื้นที่เรื่องร่องน้ำและการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชาวประมงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายพุทธพงศ์ วิมลพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานอำนวยการ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทราชาเฟอร์รี่มีแผนจะสร้างท่าเรือที่เกาะพะลวย บริเวณอ่าวสอง เป็นท่าเทียบขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส เป็นเรือโดยสารขนาดเล็กบรรจุรถได้ 15-20 คัน และไม่กระทบต่อการเดินเรือในท้องทะเล เนื่องจากกรมเจ้าท่าได้เข้ามาแนะนำในการปรับเปลี่ยนแบบเพื่อไม่ให้การก่อสร้างมีผลกระทบต่อวิถีการเดินเรือกับชาวประมงในพื้นที่แล้ว
ขณะเดียวกันก็ได้ปรับความสูงของตัวสะพานและความเอียงที่ปลายท่า เพื่อไม่ให้ส่งผลในการเลี้ยวของเรือ และจะไม่กีดขวางทางร่องน้ำของชาวประมง ซึ่งเชื่อว่า หากสร้างท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ได้จะทำให้การเดินทางสัญจรทางเรือของพี่น้องเกาะพะลวยสะดวกขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ตั้งใจที่จะให้บริการในการเดินเรือทุกวัน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพี่น้องชาวเกาะพะลวย เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางได้เฉพาะผู้โดยสารเท่านั้น และคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวบนเกาะได้อีกด้วย
ด้านนายอรุณ บุปผะโก นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเกาะสมุย กล่าวว่า ทางบริษัทราชาเฟอร์รี่ ได้เตรียมเอกสารยื่นขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือไม่เกิน 500 ตันกรอส และทำประชาพิจารณ์เพื่อให้พี่น้องชาวเกาะพะลวยรับรู้ว่าจะมีท่าเทียบเรือเกิดขึ้น โดยภาพรวมเห็นด้วยกับการก่อสร้างครั้งนี้ เพื่อเป็นการนำความเจริญและความสะดวกสู่เกาะพะลวย ขั้นตอนต่อไปเป็นการดำเนินการขออนุญาตต่อคณะกรรมการพิจารณาเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 จังหวัดสงขลา
หากผ่านขั้นตอนพิจารณาอนุญาตแล้วเสร็จจะดำเนินการกระบวนการปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 12 เดือนนับแต่วันที่อนุญาต