ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ “วัคซีนพระราชทาน” วิจารณ์ใครกันแน่ – ชารี

ชารี

ข้อคิดจาก ธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้-ใครเสีย” ช่อง You Tube คณะก้าวหน้า Progressive Movement  วันที่ 18 มกราคม 2564 22.13 น.

บทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ต้องการพิสูจน์ว่า กรณีไลฟ์สดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรื่องการจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศไทย ใครถูกใครผิด เพราะเรื่องนี้เป็นคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว บทความนี้ ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นถึงการใช้วาทศิลป์ในเชิงภาษาศาสตร์ที่ซับซ้อนในการพูดอภิปรายของนายธนาธร ซึ่งไปสู่การสร้างตรรกะที่บิดเบือนจากเหตุผลที่ควรจะเป็นและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ยังสะท้อนเจตนาของผู้พูดว่าต้องการอะไรแน่

จากการที่ นายธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เสนอข้อมูลสดทางสื่อ You Tube ของคณะก้าวหน้าในลักษณะเชิงวิชาการ ตั้งคำถามหลายข้อที่มีนัยสำคัญเป็นข้อ ข้อกล่าวหาในประเด็นการจัดหาวัคซีนโควิดเพื่อประชาชนชาวไทย ที่นายธนาธรอ้างว่า เป็นเพียงวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เท่านั้น แต่หากผู้อ่านพิเคราะห์ข้อกล่าวหาเหล่านั้นให้ละเอียดและลึก รวมทั้งพิจารณาโดยรวม ไม่ดูเพียงคำพูดเฉพาะคำ ก็จะพบว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้นล้วนพุ่งเป้าไปที่ บริษัท สยามไบโอไซน์ ซึ่งนายธนาธรพูดชัดเจนว่า เป็นบริษัทที่ถือหุ้น 100 % โดย “กษัตริย์วชิราลงกรณ์”

คำถามที่ตามมา คือ นายธนาธรวิจารณ์ใคร กล่าวหาใครกันแน่

ก่อนที่เราจะมาพิจารณาเรื่องข้อกล่าวหาของนายธนาธรที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยจำนวนมากให้เห็นถ่องแท้  ผู้เขียนขอเสนอให้เข้าใจร่วมกันว่า การพิจารณาเรื่องใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ประเด็นเดี่ยวๆ แต่มีบริบท มีข้อเท็จจริงที่อยู่ในสถานการณ์แวดล้อมต่างกรรม ต่างวาระ และต่างเวลา มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์หลากหลาย  เราจะมาดูกันว่า การกล่าวอ้างของนายธนาธรที่ว่า ข้อมูลในคลิป “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย” ทั้งหมด เป็นเพียงการกล่าวหารัฐบาล ที่มี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หรือไม่ หรือเป็นการวิจารณ์หรือกล่าวหาสถาบัน คือ พระเจ้าแผ่นดินในหลวงรัชกาลที่ 10 กันแน่ นายธนาธรกล่าวหาว่าอะไรบ้าง ตรงข้อเท็จจริงหรือไม่

ทั้งนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การวิเคราะห์ข้ออภิปรายของนายธนาธร ย่อมต้องพิจารณาบริบทของข้ออ้างในหลายสถานการณ์ รวมถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ประมวลเป็นภาพรวม มิใช่พิจารณาเฉพาะคำ หรือเพียงประโยคเดียว  หลักการวิเคราะห์ตัวบทดังกล่าว เป็นที่ยอมรับเชิงวิชาการทั่วไป เป็นศาสตร์สาขาย่อยของภาษาศาสตร์หลายสาขา (Pragmalinguistics/Textlinguistics/Sociolinguistics) ซึ่งเป็นการศึกษาภาษาโดยตรง เกี่ยวพันกับการวิเคราะห์ในแง่วาทศิลป์ รวมถึงความสัมพันธ์ของผู้พูดและผู้ฟังที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ของการสนทนาและสถานการณ์ของเนื้อหาทั้งหมดรวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวบทด้วย

ผู้อ่านที่ได้ชมคลิปทางยูทูปของนายธนาธรเรื่องนี้ จะเห็นชัดเจนว่า การเสนอข้อมูลของนายธนาธรในประเด็นการจัดหาวัคซีนโควิดในประเทศไทย เป็นการเสนอข้อมูลเชิงวิชาการ ใช้วิธีพูดเชิงวาทศิลป์ (rhetoric) มีการพูดซ้ำ ย้ำ ปลุกเร้าความสนใจด้วยคำถาม และขยายความถึงผลเสียที่อาจตามมา รวมทั้งยกตัวอย่างมากมาย

ทั้งตัวอย่างเชิงคุณภาพและปริมาณ แสดงด้วยตารางและข้อมูลทางสถิติ เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจข้อกล่าวหาของตนชัดเจนขึ้น โดยพูดให้เป็นวิชาการน่าเชื่อถือ ข้อหาทั้งหมดพุ่งประเด็นไปที่เรื่องวัคซีนเพื่อฉีดป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างมีนัยแฝงที่สำคัญ

ข้อกล่าวหาแรกของนายธนาธร คือ

1. มีการผูกขาดการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนไทยผ่านทางบริษัทเอกชน Siam Biosciences ทั้งการเจรจาหาวัคซีน ก็ไม่ทันการ จะทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนช้าเกินไป ต้องใช้ชีวิตที่ลำบากทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตกอยู่ในความกลัว ซึ่งหากประเทศไทยเจรจาซื้อวัคซีนโดยเร็วเช่นประเทศอื่นๆ ในเอเชียและยุโรป (ดังตัวอย่างที่ยกมา รวมทั้ง time line ของการเจรจาและการจัดหาวัคซีนกับการฉีดวัคซีน) ย่อมจะเป็นผลดีต่อธุรกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ แต่รัฐบาลกลับทำงานประมาท ไม่เร่งเจรจาแต่เนิ่นๆ โดยรัฐบาลยกเรื่องวัคซีนทั้งหมดไปให้บริษัทเอกชนเพียงเจ้าเดียวเป็นผู้จัดการ นั่นคือ บริษัทสยามไบโอไซน์  (Siam Bioscience)

นายธนาธรได้เชื่อมโยงข้อกล่าวหานี้ให้เห็นชัดยิ่งขึ้น โดยเน้นย้ำถึง 10 ครั้ง ว่า ประเด็นการผูกขาดวัคซีน เจรจาเพียงเจ้าเดียวโดยบริษัทเอกชนสยามไบโอไซน์  ซึ่งเป็นบริษัทที่รัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นเบ็ดเสร็จทั้งหมด 100 %  โดยนายธนาธรใช้คำว่า “บริษัทเจ้าเดียว” ตรงๆ หรือกล่าวหาโดยนัยทางอ้อมผ่านการยกตัวอย่างว่า ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่เจรจาซื้อวัคซีนกับหลายเจ้าเพื่อนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนของแต่ละประเทศ

การกล่าวหาครั้งที่ 1, 2 และ 3 ดูหน้าที่ 2 หน้า 3 ผ่าน Chart ครั้งที่ 4 หน้า 4  ผ่าน Chart ออกชื่อ “วชิราลงกรณ์” ตรงๆ  ครั้งที่ 5 ผ่าน Chart โครงสร้างของบริษัท Siam Bioscience หน้า 5 เอ่ยชื่อ “กษัตริย์วชิราลงกรณ์” ครั้งที่ 6 เสนอ Time Line การจัดหาวัคซีนล่าช้า นับเป็นการกล่าวหาโดยอ้อมที่ไทยได้รับวัคซีนช้า เพราะการจัดหาวัคซีนขึ้นอยู่กับบริษัทของสยามไบโอไซน์เพียงเจ้าเดียว (Chart บนแรก) หน้า 6

จากนั้น นายธนาธรได้เร่งเร้าความสนใจ ย้ำประเด็นการจัดหาวัคซีนเพียงเจ้าเดียวอีก โดยทั้งเขียนและพูดชัดเจนถึงกับใช้คำว่า วัคซีนพระราชทาน “วัคซีนพระราชทาน ใครได้-ใครเสีย” ซึ่งเป็นการกล่าวหาในครั้งที่ 7 เรื่องการผูกขาดการจัดหาวัคซีน (หน้า 6 Chart ล่าง) ทั้งยังให้ตัวอย่างว่า ประเทศอื่นๆ ในยุโรปมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ประเทศไทยกลับล่าช้าเพราะผูกขาดเจรจาอยู่กับวัคซีนเจ้าเดียว  กว่าจะเริ่มเจรจาก็ล่าช้าไม่ทันการ

ครั้งที่ 8, 9 และ 10 นายธนาธรใช้คำว่า “ฝากความหวังไว้กับเจ้าใดเจ้าหนึ่งเป็นการเฉพาะ” โยงกับข้อกล่าวหาที่ว่า “ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้บริหารที่ดี” ทั้งยังให้ตัวอย่างว่า ยังมีวัคซีนของเจ้าอื่นประเทศอื่นอีกหลายประเทศ เช่น วัคซีนสปุดนิค (Sputnik) ของรัสเซีย วัคซีน ซิโนแวค ของประเทศจีน หรือวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์จากยุโรป เป็นต้น (หน้า ๘) เพื่อให้ข้อกล่าวหาของตนดูน่าเชื่อถือและเที่ยงธรรม

ทั้งหมดที่กล่าวมา เท่ากับเป็นการกล่าวหารัชกาลที่ 10 โดยตรงว่า ไม่ใช่ผู้บริหารที่ดี นอกจากนี้ นายธนาธร ยังพูดอีกว่า “…ยกตัวอย่างมาเพียง 4 – 5 ตัวอย่าง เพื่อให้ทุกท่านเห็นว่า เรายังมีตัวเลือกอื่นๆ ที่เราสามารถเจรจาได้ (หน้า 8 ย่อหน้าเดียวกัน) เป็นการเน้นย้ำและเชื่อมโยงกับข้อกล่าวหาที่ว่า พระมหากษัตริย์ตัดสินพระทัยและจัดการทั้งหมดผ่านทางรัฐบาลโดยบริษัทสยามไบโอไซน์ให้เป็นผู้ผูกขาดการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนไทย กรณีนี้เป็นการใช้ภาษาที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องเชิงนัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คำในภาษาเป็นคำเดียวกันว่า “ผูกขาด” หรือ “เจ้าเดียว” ทุกครั้งไป  แต่เป็นการใช้ภาษาที่ผูกพันเกี่ยวเนื่องหรือเชื่อมโยงพุ่งชี้ไปที่ข้อความเดียวกัน ผ่านทาง “ตัวเลือกอื่นๆ” และ “ตัวอย่างหลายตัวอย่าง” (หน้า 9 หน้า 10)

จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างการเจรจาซื้อวัคซีนของประเทศอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์  ได้รับการตอกย้ำพูดซ้ำๆ หลายครั้งเพื่อให้ข้อกล่าวหาดูสมจริงและน่าเชื่อถือ  กับนายธนาธรยังได้ยกตัวอย่างเรื่องการฉีดวัคซีนได้รวดเร็วของประเทศในอาเซียนและยุโรปหลายประเทศรวมถึงประเทศอิสราเอลในตะวันออกกลางประกอบด้วย

นับได้ว่า นายธนาธรกล่าวหารัชกาลที่ 10 ในฐานะที่ทรงผู้ถือหุ้น 100% บริษัทสยามไบโอไซน์ที่ผูกขาดการนำเข้าวัคซีนแก้ไขปัญหาโควิด นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา เป็นผลเสียต่อประเทศไทยอย่างร้ายแรง ทำให้ ประชาชนตกอยู่ในความกลัว

ข้อกล่าวหาเรื่องมีการจัดหาวัคซีนเพียง “เจ้าเดียว” และ “ผูกขาด” วัคซีนของนายธนาธร ได้รับการขยายความ  นำไปสู่การกล่าวหาข้อถัดไป กล่าวคือ

2.การจัดหาวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซน์ทำโดยรัฐบาลที่นำงบประมาณของรัฐไปสนับสนุนบริษัทเอกชนเป็นบริษัทของรัชกาลที่ 10” เป็นบริษัทที่ดำเนินการไม่โปร่งใส โดยนายธนาธรยกตัวอย่างข้อคิดเห็นของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 5 วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยกรรมการท่านหนึ่งว่า (ไม่ใช่ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการทั้งชุด – ประเด็นนี้ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุมตามวันเวลาดังกล่าวหรือไม่) การดำเนินงานจัดหาวัคซีน โดยมอบหมายให้บริษัทเอกชนเพียงบริษัทเดียวที่ถือหุ้น 100% โดยกษัตริย์วชิราลงกรณ์นั้น ควรดำเนินการให้รอบคอบโปร่งใส นำไปสู่ข้อสงสัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการขัดกันทางผลประโยชน์หรือไม่ นับเป็นการกล่าวเชิงวาทศิลป์ ชี้ประเด็นเพื่อปลุกความสงสัย เร่งเร้าให้ประชาชนสนใจมากขึ้นและตั้งคำถามในประเด็นความซื่อตรงของการทำงานของบริษัท ซึ่งเท่ากับเป็นการกล่าวหารัชกาลที่ 10 โดยอ้อมที่มีนัยอย่างสำคัญเพื่อทำให้ประชาชนเคลือบแคลงในการการะทำขององค์พระมหากษัตริย์ ว่าไม่โปร่งใส อาจมีผลประโยชน์แอบแฝง

3. นอกจากนี้ นายธนาธรยังว่า บริษัทสยามไบโอไซน์โดยเนื้อแท้และวัตถุประสงค์การทำงานไม่ใช่บริษัทที่ผลิตวัคซีน แต่ ผลิตยา แสดงถึงว่า นายธนาธรไม่เข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ ไม่เข้าใจเรื่องการสาธารณสุขและปราศจากความเข้าใจเรื่องวิชาการ ทั้งยังปกปิดข้อมูลเรื่อง วัตถุประสงค์ ของสยามไบโอไซแอนที่ต้องการผลิตยาให้ราคาต่ำกว่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือคนไทยให้สามารถหาซื้อยาในประเทศได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป

4. ข้อกล่าวหานี้ นำมาสู่ข้อกล่าวหาต่อไปของนายธนาธรที่ว่า การทำงานของสยามไบโอไซน์ ไร้ประสิทธิภาพ มีบริษัทลูกถึงสามบริษัท ทั้งยังติดต่องานกับต่างประเทศด้วย แต่ล้มเหลวทั้งบริษัทแม่และบริษัทลูกทุกบริษัท ดำเนินงานขาดทุนทางธุรกิจไม่เคยมีกำไรเลย (หน้า 11 – 12) นับเป็นการกล่าวหาโดยอ้อม เชื่อมโยงกับข้อกล่าวหาประเด็นการทำงานไร้ประสิทธิภาพที่อาจจะเกิดจากการทำงานที่ไม่โปร่งใส ไม่ซื่อตรง และไร้ประสิทธิภาพของสยามไบโอไซน์มาตั้งแต่รัชกาลที่ 9 ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 10 บริษัทจึงขาดทุนมาโดยตลอด โดยนายธนาธรอ้างมาตรฐานเรื่องขาดทุน-กำไรของพ่อค้ามาตัดสินการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนคนไทยด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในลักษณะเวลแฟร์ (welfare) ของบริษัทสยามไบโอไซน์  สะท้อนความเป็นพ่อค้าที่คิดแต่จะแสวงหาแต่ผลกำไรของนายธนาธร ไม่เคยนึกถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างที่เคยแอบอ้างว่าตนเองเป็นคนของประชาชน เป็นหนึ่งในคณะราษฎร์ที่ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญโดยนัยของข้อกล่าวหาว่า การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพของของบริษัทสยามไบโอไซน์ นับเป็น ข้อกล่าวหากษัตริย์วชิราลงกรณ์ที่ไร้ความสามารถในการทำงานโดยสิ้นเชิงอีกด้วย

5. ข้อกล่าวหาที่สำคัญที่สุดและขมวดปมข้อกล่าวหาหลักกับข้อกล่าวหาย่อยทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว คือ นายธนาธรเชื่อมโยงเรื่องการทำงานของรัฐบาล กรณีการเจรจาจัดหาวัคซีนและการดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับวัคซีนเข้ากับประเด็นทางการเมืองชัดเจน “รัฐบาลทำเช่นนี้เพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองก่อนผลประโยชน์ของประชาชน” (ครั้งที่ 1 หน้า 2 ย่อหน้าที่ 1 / ครั้งที่ 2 ซ้ำอีกหน้า 13 บรรทัดสุดท้าย / และครั้งที่ 3 เป็นขมวดประเด็นทั้งหมดของการ Live สดครั้งนี้ สู่ประเด็นการเมืองดังกล่าวในหน้า 15)

แต่ .. ข้อกล่าวหานี้ของนายธนาธรมิใช่ข้อกล่าวหารัฐบาลของประเทศไทยในขณะนี้ ทั้งยังไม่ใช่กล่าวหาพลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่เป็นการปกป้องกษัตริย์วชิราลงกรณ์ตามที่นายธนาธรกล่าวอ้างแก้ตัว แต่เป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ว่ากระทำผิดอย่างชัดเจน

ข้อแก้ตัวของนายธนาธรว่า วิจารณ์รัฐบาลจึงสมควรตกไป เนื่องจากเหตุผลและความเกี่ยวเนื่องตามนัยทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งด้านภาษาและเนื้อความล้วนชี้ชัดว่า นายธนาธรเชื่อมโยงการทำงานของรัฐบาลเข้ากับบริษัทเอกชน สยามไบโอไซน์โดยตรงที่มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถือหุ้น 100% ดังข้อวิเคราะห์ก่อนหน้า  ถึงขนาดใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” ทั้งยังพูดด้วยว่า บริษัท Siam Bioscience คือ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ถือหุ้น 100% โดยตรง ซึ่งผู้ที่เป็นนักุรกิจ หรืออยู่ในวงการธุรกิจ ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า หัวใจการทำงานของบริษัทใดก็ตาม อยูที่ผู้ถือหุ้นใหญ่

(Chart 2 หน้า 4 / Chart 1 หน้า 5 “วัคซีนพระราชทาน” / หน้า 6 บริษัท Siam Bioscience คือ บริษัทที่มีในหลวง ร. 10 ถือหุ้น 100% / หน้า 9/หน้า 10 บรรทัดที่ 7 และ 9 บรรทัดที่ 5 จากล่าง รวม 3 ครั้งในหนึ่งหน้า

ประเด็นสืบเนื่องสำคัญ คือ นายธนาธรได้เชื่อมโยงเรื่องการเรียกคะแนนนิยมของรัฐบาลทางการเมืองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ผ่าน Timeline ของการเจรจาจัดหาวัคซีนที่ล่าช้ากว่าจะเสร็จก็ในไตรมาสที่ 3 ของพ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ “มีการเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาประชาชนให้คุณประยุทธ์ลาออก เรียกร้องให้มีการแก้ไขและธรรมนูญและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์...” (หน้า 13) กับทั้งเชื่อมโยงหาเหตุผลสนับสนุนข้อกล่าวหาหรือข้อสังเกตของตนข้อนี้เข้ากับ การอนุมัติแผนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติพ.ศ. 2563 – 2565 ที่ชื่อวัคซีน AstraZeneca ไม่เคยอยู่ในแผนเลย นับเป็นถ้อยคำเชิงวาทศิลป์ (rhetoric) คือพูดเป็นเชิงลบก่อนเพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้ฟัง หลังจากนั้น นายธนาธรเสนอข้อมูลตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องที่ว่า ทำไม ในที่สุดสยามไบโอไซน์ของรัชกาลที่ 10 จึงโผล่มาในแผนความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ: “เป็นการฝากอนาคตประเทศไทยไว้กับบริษัท AstraZeneca และกับบริษัทสยามไบโอไซน์มากเกินไปหรือเปล่า” (หน้า 14) “มันนำมาสู่คำถามสุดท้ายว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัท Siam Bioscience คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นโดยตรง…คุณประยุทธในฐานะนายกรัฐมนตรีอนุมัติดีลอย่างนี้ คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบได้หรือไม่…เพราะประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท Siam Bioscience ซึ่งมีผู้ถือหุ้นก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ 10” (ท้ายหน้า 14 ต้นหน้า 15)

โดยหลักวิชาการของการวิเคราะห์ตัวบททางภาษาศาสตร์ดังได้กล่าวแล้วในช่วงต้นของบทความ การเชื่อมโยงประเด็นที่กล่าวหาเข้ากับประเด็นการเมือง ได้แก่ การหาคะแนนนิยมของรัฐบาลประยุทธ์กับ “บริษัท สยามไบโอไซน์” เชื่อมโยงกับ “วัคซีน” กับ “ในหลวงรัชกาลที่ 10” อย่างชัดเจน ประหนึ่งว่า เป็นการกล่าวหารัฐบาล แต่ที่จริง นายธนาธรกำลังกล่าวหารัชกาลที่ 10 ในฐานผู้ถือหุ้น 100 % ของบริษัท Siam Bioscience  ที่ได้รับการเลือกจาก AstraZeneca ให้ทำการผลิตวัคซีน ถึงกับใช้คำว่า วัคซีนที่ผลิตจากบริษัทนี้เป็น “วัคซีนพระราชทาน” ที่รัฐบาลพยายามอิงตนเองกับสถาบันให้เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนทางการเมืองในช่วงที่มีการประท้วงคัดค้านสถาบันของคณะราษฎร 2563 (ไม่เพียงคัดค้าน แต่ยังดูถูกดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหยาบคายเป็นที่ประจักษ์ของประชาชนชาวไทยทั่วไป)

นั่นหมายความว่า เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตีวิพากวิจารณ์ รัฐบาลก็นำบริษัทของพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นเกราะกำบังตนเองเพื่อเป็นทางรอดเดียวของประชาชนชาวไทย ผลิตวัคซีนให้คนไทยเพื่อให้รัฐบาลเป็นที่นิยมของประชาชน

ทั้งนี้ ไม่นับการที่นายธนาธรปกปิดพูดไม่หมด บิดเบือนข้อมูลเรื่องวัตถุประสงค์การทำงาน และผลงานของบริษัททุนลดาวัลย์ (รัชกาลที่ 9) กับของบริษัทสยามไบโอไซน์ในรัชกาลที่ 10 รวมทั้งปิดบังเรื่องไทม์ไลน์และเหตุผลที่มาของการที่ AstraZeneca เลือกสยามไบโอไซน์ให้เป็นตัวแทนผลิตวัคซีน ปิดบังไม่บอกเหตุผลของความจำเป็นที่ประเทศไม่ต้องเร่งรีบหาวัคซีนโดยเร็ว เนื่องจากสถานการณ์การติดโควิดในไทยขณะนั้นไม่เลวร้ายเช่นในทุกประเทศที่นายธนาธรยกตัวอย่างมาทั้งในเอเชียและยุโรป  ทำให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่ประมาท

ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาที่นายธนาธรอ้างว่า ควรทำ คือเจรจาหาวัคซีนตั้งแต่ต้นปี 2563 (2020) ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการระบาดโควิด ยังไม่รู้ว่ามีวัคซีนหรือไม่ หรือ ใครจะผลิตวัคซีนบ้าง ทั้งในเวลาต่อมา ข้อแม้ของการซื้อวัคซีนยังอาจทำให้ประเทศไทยเสียเงินเปล่าหากบริษัทยุโรปเหล่านั้นผลิตวัคซีนไม่สำเร็จและยึดเงินค่า (มัดจำ) วัคซีนไปเลย  รวมถึงนายธนาธรยังไม่กล่าวถึงผลกระทบข้างเคียงของวัคซีนซึ่งพัฒนาอย่างเร่งรีบในเชิงสุขภาพ ยังไม่มีผลการวิจัยรองรับแน่ใจเรื่องความปลอดภัยในเชิงการแพทย์แต่อย่างใดในช่วงไตรมาสที่สองถึงสามของพ.ศ. 2563

แม้ในขณะนี้ คือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยหรือข้อมูลทางการแพทย์ที่จะยืนยันได้ว่า วัคซีนที่เริ่มฉีดกันไปแล้วจะได้ผลนานแค่ไหน อย่างไรในคนกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ เพศหญิงเพศชายอย่างไร ทั้งหมดล้วนส่อเจตนาของนายธนาธรที่จะกล่าวหารัชกาลที่ 10

อาจกล่าวได้ว่า กรรม หรือ การกระทำและคำพูดทั้งหมด ล้วนส่อเจตนาของนายธนาธรที่จะกล่าวหาพระมหากษัตริย์ คือ “กษัตริย์วชิราลงกรณ์” มิใช่ต้องการปกป้อง ผ่านทางการทำงานของรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ทำงานโดยประมาทและต้องการหาคะแนนนิยมทางการเมืองเรื่องวัคซีน ทุกประเด็นพุ่งเป้าไปที่องค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่พิสูจน์ได้

Written By
More from pp
องค์การสหประชาชาติ เสนอโมเดลทางเลือก ในการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการเติบโตที่มีคุณภาพ  ภายใต้ข้อตกลงสีเขียวโลกฉบับใหม่ ในการฝ่าวิกฤติสู่การปฏิรูปสังคม และเศรษฐกิจโลก  
กรุงเจนีวา ( 25 กันยายน 2562 ) ทุกประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติภายในปี 2573 ได้ แต่เพียงแค่หากเราแสดงเจตจำนงทางการเมืองอันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงกฎกติกาของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาที่เน้นการระดมเงินทุน เพื่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถต่อยอดและผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเชิงบวกต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนภายใต้การนำของภาครัฐ...
Read More
0 replies on “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ “วัคซีนพระราชทาน” วิจารณ์ใครกันแน่ – ชารี”