กระทรวงสาธารณสุข เผยคลัสเตอร์ รปภ.จุฬานิวาสน์ พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานไม่มีอาการ ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกัน พบจุดสัมผัสเสี่ยงที่เครื่องสแกนนิ้ว แนะล้างมือบ่อยๆงดพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ช่วยป้องกันโควิด 19 ได้
กระทรวงสาธารณสุข เผยคลัสเตอร์ รปภ.จุฬานิวาสน์ พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานไม่มีอาการ ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกัน พบจุดสัมผัสเสี่ยงที่เครื่องสแกนนิ้ว แนะล้างมือบ่อยๆ งดพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ช่วยป้องกันโควิด 19 ได้
ส่วนใน กทม.เร่งค้นหาเชิงรุกในตลาด/สถานประกอบการ/ชุมชน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาด
16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า
วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 72 รายมาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 21 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 48 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 3 รายรักษาหายเพิ่มขึ้น 680 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 16 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวน 20,549 ราย หายป่วยสะสม 19,386 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 1,141 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 ภาพรวมการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานที่เสี่ยงการติดเชื้อจำนวน 3 แห่ง ได้แก่
1.ตลาด ตรวจตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2563 จำนวน 466 ตลาด ตรวจให้กับพ่อค้า แม่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดกว่า 4 หมื่นคน พบติดเชื้อ 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.03 เป็นการติดเชื้อแบบประปรายไม่เป็นกลุ่มก้อน
2.ในสถานประกอบการดำเนินการตรวจ ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค 2563 จำนวน 128 แห่ง ในกลุ่มแรงงานจำนวน 16,177 คน พบติดเชื้อ 65 รายคิดเป็นร้อยละ 0.40 โดยติดเป็นกลุ่มก้อน 5 โรงงาน และ
3.ในชุมชนเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2563 จำนวน 4,654 คน พบติดเชื้อ 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.75 ซึ่งทุกแห่งสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยยืนยันที่เชื่อมโยงกับ รปภ. จุฬานิวาสน์ พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวน 22 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน และไม่มีอาการ ทีมสอบสวนโรคจึงได้การดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุกที่ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาฯจำนวน 862 คน พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย และรอผล 165 คน และในตลาดรอบจุฬาฯจำนวน 434 คน ผลไม่พบเชื้อ 334 คน และอยู่ระหว่างรอผล 100 คน ขณะนี้ไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนทำให้เห็นถึงการเชื่อมโยง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการติดเชื้อ ไม่ใช่จาก 1 คนไปสู่ 1คน แต่เป็นการแพร่ไปในครอบครัว กลุ่มที่พักอาศัยชั้นเดียวกัน กลุ่มที่ทำงานที่มีความใกล้ชิด สนิทสนม รับประทานอาหารร่วมกัน และยังมีการตรวจพบเจอเชื้อที่เครื่องสแกนนิ้ว ถือเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุย หัวเราะ ใกล้ชิดกัน ก็ไม่ควรประมาท ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการล้างมือสม่ำเสมอจะสามารถช่วยหยุดการระบาดเชื้อโควิด 19 ได้อีกทางหนึ่ง