คกก. อนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ประกาศเพิ่ม 3 เมือง เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง เมืองเก่าฉะเชิงเทรา เป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า ส่งเสริมคุณค่าทางมรดกทางวัฒนธรรมเก่า

18 ม.ค. 63 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ Video Conference โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเพิ่มเติม 3 เมือง ประกอบไปด้วย เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ครอบคลุมพื้นที่บริเวณสำคัญของเมืองเก่าแต่ละเมืองด้วย เช่น เมืองเก่าอุทัยธานี จะครอบคลุมวัดอุโปสถาราม เขาสะแกรัง ย่านชุมชนตรอกยาจีน และชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง

เมืองเก่าตรัง จะครอบคลุมบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง วิหารคริสตจักรตรัง อาคารสโมสรข้าราชการ หอนาฬิกาจังหวัดตรัง สถานีรถไฟตรัง และตึกแถวย่านประวัติศาสตร์ทับเที่ยง

และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา ครอบคลุมป้อมและกำแพงเมืองฉะเชิงเทราบริเวณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง วัดโสธรวรารามวรวิหาร ศาลหลักเมืองฉะเชิงเทรา ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร อาคารไม้สัก 100 ปี และย่านการค้าตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์


รวมถึงเมืองเก่าฉะเชิงเทราได้พิจารณาเพิ่มเติมการกำหนดขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่องเป็นระยะ 200 เมตรจากขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าให้สอดรับกับแผนพัฒนาพื้นที่ตามแผนการดำเนินโครงการเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) อีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า 5 เมือง ได้แก่ เมืองเก่าสกลนคร เมืองเก่าระนอง เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าตาก และเมืองเก่าแพร่ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยรองนายกรัฐมนตรีย้ำให้ทุกจังหวัดที่เป็นเขตพื้นที่เมืองเก่านำแผนแม่บทฯ ไปขับเคลื่อนเพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมเมืองเก่าต่อไป

Written By
More from pp
0 replies on “คกก. อนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ประกาศเพิ่ม 3 เมือง เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง เมืองเก่าฉะเชิงเทรา เป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า ส่งเสริมคุณค่าทางมรดกทางวัฒนธรรมเก่า”