24 พ.ย. 63 เวลา 14.15 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงการชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย. 63 โดยขอความร่วมมือกลุ่มผู้ชุมนุมเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรง ซึ่งในการชุมนุมที่ผ่านมา จะมีการเตือนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะว่าสามารถกระทำอะไรได้ กระทำอะไรไม่ได้
สำหรับการชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย. 63 บริเวณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมรุกล้ำเข้าในพื้นที่บริเวณที่ห้ามเข้า พร้อมวอนผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า การปะทะ รวมทั้งรับฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าพื้นที่ใดสามารถเข้าไปได้และพื้นที่ใดไม่สามารถทำได้ เพื่อให้ภาพรวมเป็นไปด้วยความสงบ
เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาได้พบเห็นการดำเนินการของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น บริเวณหน้ารัฐสภา บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ทั้งการทำลายทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนด้วยการสาดสี พ่นสเปรย์สี ด้วยข้อความที่ไม่เหมาะสม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือกลุ่มผู้ชุมนุมให้ดำเนินการชุมนุมอย่างเคารพกฎหมาย เพราะการชุมนุมโดยสงบสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่หากมีการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย เพราะประเทศไทยยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมและทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำว่า การชุมนุมสามารถดำเนินการการได้ตามสิทธิ แต่ขอทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย หลีกเลี่ยงการกระทำผิดในทุกมาตรา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงวานนี้แล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้นขึ้น
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่าในวันที่ 25 พ.ย. 63 นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐ – อาเซียน (US-ASEAN Business Council) ในรูปแบบการประชุมกึ่งออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้บริหารบางส่วนที่อยู่ต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมผ่านทางไกล (Video Conference) และผู้บริหารเจ้าหน้าที่ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยจะเข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล
ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยผู้บริหารและผู้แทนภาคเอกชนจำนวน 89 คน จาก 38 บริษัท จาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สุขภาพและวิทยาศาสตร์ อาหารและการเกษตร การผลิตและภาษี การบริหารทางการเงิน การท่องเที่ยวและการคมนาคม เพื่อหารือถึงแนวทาง มาตรการของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 รวมทั้งรับฟังข้อเสนอจากนักธุรกิจสหรัฐอเมริกาเพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่น่าลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยสภาธุรกิจสหรัฐ – อาเซียน มีกำหนดการพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกด้วย