วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2563) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 5/2563 (ศบศ.)
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กล่าวถึงรายละเอียดดังนี้
นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 6.4 โดยนับเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 12.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2563 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองของปี 2563 ร้อยละ 6.5 รวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับการฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางภายในประเทศ
ซึ่ง นายกรัฐมนตรียินดีที่มาตรการคนละครึ่ง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีร้านค้าลงทะเบียนรวมทั้งหมด 717,549 ร้าน มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 9,277,402 ราย ใช้สิทธิแล้ว 8,751,739 ราย นับเป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคได้ในวงกว้าง นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ก็กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องการขยายเวลาและปรับปรุงมาตรการนี้ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สำหรับมาตรการด้านการท่องเที่ยว การเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศภายใต้ STV ให้มากขึ้น โดยพิจารณาคัดเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับต่ำก่อน รวมทั้งเพิ่มโควตาจำนวน Alternative State Quarantine (ASQ) และ State Quarantine (SQ)
โดยข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 พบว่ามีนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) เดินทางเข้าไทยจำนวน 681 คน โดยมีนักท่องเที่ยวที่กักตัวเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 263 คน นักท่องเที่ยวที่อยู่ในระหว่างกักตัวจำนวน 134 คน และนักท่องเที่ยวที่มีกำหนดเดินทางเข้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 284 คน
โอกาสนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบด้วย
(1) มาตรการส่งเสริมการจัดแพ็คเกจท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Amazing Thailand Plus Special Package) โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสมาคมโรงแรมไทย มีข้อเสนอร่วมกันในการเป็นหน่วยธุรกิจในการดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศไทย ในรูปแบบของ Amazing Thailand plus Package
ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงให้อยู่ในลักษณะบริการครบวงจร (One Stop Service) อาทิ การจองตั๋วเครื่องบิน การขอวีซ่าและกระบวนการเดินทางเข้าประเทศ การจองโรงแรม/ที่พัก/ สถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) และบริการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุมและครบวงจร
(2) การปรับสิทธิประโยชน์รองรับกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติที่มีคุณภาพและมีกำลังซื้อสูงภายใต้โปรแกรมพิเศษ Elite Flexible Plus Program โดยผู้เข้าร่วมโปรแกรมจะต้องเป็นสมาชิกบัตร Thailand Elite ประเภทบัตรที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป และอายุบัตรตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
โดยสมาชิกเดิมต้องมี อายุสมาชิกเหลือไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโปรแกรมและแสดงหลักฐานการลงทุน โดยการลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้โปรแกรมพิเศษฯ ให้สามารถได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจัดสัมมนาของภาครัฐในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เสนอโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเป็นส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้ โดยเสนอให้ส่วนราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดอบรมฝึกอบรมและสัมมนา ในจังหวัดที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นการเร่งด่วน ภายในปีงบประมาณ 2564
โดยให้เป็นไปตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และให้ทุกส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อรวบรวมและรายงานต่อ ศบศ. ต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาต่อไป