กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เผย “กาแฟดอยตุง” ได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในกัมพูชาแล้ว คาดสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดส่งออกในกัมพูชาด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ยกให้ “กาแฟดอยตุง” เป็น ต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “การส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ไทยในต่างประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลมุ่งผลักดันเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มโอกาสในตลาดต่างประเทศให้กับชุมชนท้องถิ่น
ปัจจุบันมีสินค้า GI ไทยที่ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศถึง 6 รายการ ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ ได้แก่ ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และล่าสุดสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญากัมพูชาได้ประกาศรับขึ้นทะเบียน
“กาแฟดอยตุง” เป็นสินค้า GI ในกัมพูชา คาดช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายธุรกิจไปยังประเทศกัมพูชา ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในกัมพูชาที่จะได้ดื่มกาแฟดีมีคุณภาพอย่างกาแฟดอยตุง อนาคตเตรียมเปิดตลาดในญี่ปุ่น พร้อมเดินหน้ายื่นคำขอ GI ในญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณา หากขึ้นทะเบียน GI สำเร็จจะเป็นการขยายตลาดส่งออกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งต่อไป”
นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กาแฟดอยตุง เป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิกาลูกผสม ปลูกในพื้นที่ป่าเขียวชอุ่มในโครงการพัฒนาดอยตุงบนเทือกเขานางนอน จังหวัดเชียงราย ที่ระดับความสูง 800 ถึง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จากปัจจัยดังกล่าวทำให้กาแฟดอยตุงมีรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นหอมหวานจากผลไม้ มีรสชาติเปรี้ยวเล็กน้อยแต่ไม่เปรี้ยวจัด มีเนื้อสัมผัสและรสชาติกำลังดี จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักดื่มกาแฟ และมีผู้สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟดอยตุงเพื่อนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ”
นายวีรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อีกเรื่องดีๆ ของกาแฟดอยตุง คือการเป็นต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน อีกทั้งให้ความสำคัญกับการควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า GI ผ่านการขออนุญาตใช้ตรา GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้คงไว้ซึ่งรสชาติที่มีอัตลักษณ์ของกาแฟดอยตุง พร้อมนี้ ได้กล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการ GI ให้นำแนวปฏิบัติของกาแฟดอยตุงเป็นต้นแบบในการปรับใช้ขับเคลื่อนสินค้า GI ของตน เพื่อสร้างเม็ดเงินกลับสู่ชุมชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป”