เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 นายสุรพงศ์ ฉวีภักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนการอนุญาตการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ได้รับการแจ้งจากนายโทรุ เทระอิ เลขานุการเอกและรองผู้แทนถาวรประเทศญี่ปุ่นประจำ ESCAP สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยถึงข่าวดีในการตกลูกของช้างไทยเป็นครั้งแรกในสวนสัตว์อุเอะโน (Ueno) ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563 เวลา 05.44 น. พังอุทัยได้ตกลูกช้างเพศผู้มีความสูง 1 เมตร น้ำหนัก 120.5 กิโลกรัม ทั้งแม่ช้างและลูกช้างมีสภาพสมบูรณ์ดี สำหรับลูกช้างดังกล่าวเกิดมาจาก “พลายอาทิตย์” และ “พังอุทัย เป็นช้างที่ประเทศไทยได้มอบให้แก่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2545 ในโอกาสเฉลิมฉลอง พระประสูติกาลของเจ้าหญิงไอโกะ พระราชธิดาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ (ในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ)
ซึ่งช้างทั้งสองถือเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและเป็นของขวัญชิ้นใหญ่แทนคำขอบคุณแก่องค์กร Organization for Industrial, Spiritual and Cultural Advancement (OISCA) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของญี่ปุ่น ที่ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าครบรอบ 20 ปี ในจังหวัดสุรินทร์ ด้วย
พลายอาทิตย์และพังอุทัยได้ผสมพันธุ์กันในเดือนมกราคมปีที่แล้ว แต่พลายอาทิตย์ได้ล้มจากอาการป่วยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ซึ่งการจากไปของพลายอาทิตย์ ครั้งนั้น สร้างความเสียงใจและความโศกเศร้าแก่ผู้ที่ได้รับทราบข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่รักและเอ็นดูพลายอาทิตย์ ตั้งแต่มาถึงญี่ปุ่นจนจากไป รวมเวลาที่ได้อยู่กับชาวญี่ปุ่นทั้งสิ้นเกือบ 18 ปี
การตกลูกของช้างไทยครั้งนี้นอกจากเป็นลูกช้างตัวแรกที่เกิดในสวนสัตว์อุเอโนะ นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2425 ยังเปรียบเสมือนตัวแทนความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ช่วยสร้างความยินดีและความสุขให้กับประชาชนชาวญี่ปุ่นหลังเศร้าโศกต่อการจากไปของพลายอาทิตย์ สำหรับประเทศไทยการที่ช้างไทยตกลูกในต่างแดนเป็นเรื่องที่น่ายินดี นับเป็นข่าวดีของทั้งสองประเทศ ลูกช้างตัวนี้ถือเป็นตัวแทนแห่งมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน
ภาพ : สวนสัตว์ อุเอโนะ