“ภาพความทรงจำอันแสนประทับใจตลอด ๓๘ ปี ของชีวิตการรับราชการ คงไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่ทำให้เกิดความปลื้มปีติเท่ากับเหตุการณ์นี้อีกแล้ว”
นายสิทธิลาภ วสุวัติ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้เล่าถึงเหตุการณ์อันเป็นที่มาของความประทับใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ไว้มีความว่า
จำได้ว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๘ ได้รับโทรศัพท์จาก ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า กระทรวงฯ จะถวายโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระชนมายุ ๖๐ ชันษา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลโดยผ่านทางพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์ุ เพ็ญศิริจักรพันธ์ และทรงได้พระราชทานพระราชกระแสว่ามีที่ดินราว ๖๐๐ ไร่ ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายที่จังหวัดราชบุรี ทรงทราบว่าเป็นที่ดินไม่ดี จึงอยากให้กระทรวงเกษตรฯ ไปพัฒนาให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ จึงได้สั่งให้ไปดูพื้นที่แล้วให้มารายงานพร้อมกับกำชับว่าให้กราบทูลพระองค์เจ้าจักรพันธ์ ให้ทรงทราบอีกทางหนึ่งด้วย
“ต่อมาไม่นาน ผมได้ชวนคุณปรัชญาฯ กองอนุรักษ์ดินและน้ำ และคุณไพโรจน์ฯ กองสำรวจดินไปดูพื้นที่ด้วยกัน ก่อนไปได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินว่าเป็นที่ดินของ พล.ต.ต.ทักษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เนื้อที่ ๕๙๑ ไร่ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ติดกับเขาเขียว เคยทำไร่ และทำสวนมะม่วงมาแล้วแต่ไม่ประสบผล จึงได้เปลี่ยนมาเลี้ยงวัว และขุดลูกรังขาย”
นายสิทธิลาภ เล่าว่า หลังจากที่ได้นำคณะไปยังพื้นที่สำรวจแล้วได้ทราบว่าพื้นที่โดยทั่วไปกว่า ๙๐% ได้ถูกชะล้างอย่างปานกลางถึงรุนแรง จนบางแห่งเกิดร่องน้ำและหน้าดินเกือบไม่เหลือ โดยจะเห็นแผ่นลูกรังปรากฏทั่วไป มีพื้นที่ตอนล่างราว ๖% เท่านั้น ที่สามารถใช้เพาะปลูกได้ และมีบ่อขุดซึ่งสามารถเก็บน้ำได้ ๔ บ่อ จึงได้ทำรายงานถึงทั้งพระองค์เจ้าจักรพันธ์ฯ และดร.เถลิงฯ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ให้ทราบว่า ที่ดินแปลงนี้คงพัฒนายาก ทั้งอีกประการหนึ่งก็เป็นแหล่งอับฝน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณปีละ ๗๐๐ มม. เท่านั้นและเท่าที่สังเกตในวันนั้น เห็นว่า ดร.เถลิงฯ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ดูท้อๆ กับโครงการนี้
นายสิทธิลาภฯ ได้เล่าต่อว่า หลังจากนั้นอีกประมาณ ๒ อาทิตย์ต่อมา จึงได้รับโทรศัพท์จากพระองค์เจ้าจักรพันธ์ฯ ว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงรายงานที่ได้ถวายไปแล้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการฟื้นฟูที่ดินแปลงนี้ และทรงเน้นด้วยว่า
“ที่ดินเลวๆ เช่นนี้ ถ้ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ทำแล้วจะให้ใครทำ”
การจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มจึงเกิดขึ้นโดยมี ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และมีพระองค์เจ้าจักรพันธ์ุ เพ็ญศิริจักรพันธ์ เป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วยส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสิทธิลาภ วสุวัติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
หลังจากนั้นในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๘ จึงได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรับพระราชทานพระบรมราโชวาทที่จังหวัดนราธิวาส เกี่ยวกับวิธีการดำเนินการโครงการเขาชะงุ้มว่าให้สร้างอ่างเก็บน้ำ บริเวณดินเลวให้ปลูกต้นไม้ที่สามารถขึ้นได้ และศึกษาวิธีการพัฒนาพื้นที่ส่วนที่ดินดีให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นการสาธิตแก่ราษฎร
นายสิทธิลาภ เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโครงการครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ได้ทรงตรวจสภาพพื้นที่ทั่วๆ ไป และพระราชทานพระราชดำริว่าให้ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมให้ใช้ประโยชน์ได้หลายๆ อย่าง บางพื้นที่ให้ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมให้เกิดเป็นป่าธรรมชาติ ส่วนบนเขาเขียวให้ช่วยกันดูแลอย่าให้ขึ้นไปตัดไม้
“วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๕ ได้ทราบข่าวด่วนจากสำนักงาน กปร. ว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปลูกหญ้าแฝกที่โครงการเขาชะงุ้มในวันรุ่งขึ้น พวกเราก็เตรียมการรับเสด็จ ในทันทีโดยเน้นในเรื่องหญ้าแฝก”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น ได้ทรงปลูกหญ้าแฝกตามสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ แล้วจึงเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการหญ้าแฝก ก่อนที่จะไปทอดพระเนตรโครงการฟื้นฟูดินลูกรัง ซึ่งที่ดินแปลงนี้แต่เดิมเกือบไม่มีพืชขึ้นได้เลยแม้แต่หญ้า แต่หลังจากที่โครงการได้ปลูกพืช สร้างดินและไถกลบซ้ำซ้อนได้ ๒-๓ ปี จนพอเห็นว่ามีหน้าดิน จึงได้ทดลองปลูกนุ่น ปลูกมา ๒ ปี ๘ เดือนนุ่นก็ได้ผล
“ขณะนั้นผมซึ่งตามเสด็จ ไปติด ๆ กับคุณปราโมทย์ (นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน) ได้ยินรับสั่งพึมพำว่า ‘พัฒนาที่ดินทำงานได้ผล’ พอได้ยิน ผมขนลุกไปทั้งตัวด้วยความปีติ เพราะได้ทำโครงการถวายมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ไม่เคยได้ยินพระราชดำรัสเช่นนี้มาก่อน”
นายสิทธิลาภ เล่าต่อไปว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ ถึงแปลงทรงหยุดประทับที่แปลง ณ ที่นั้นขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาสมทบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงรับสั่งอธิบายเรื่องต่าง ๆ ของโครงการให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบในวันนั้นขณะนั้นเป็นเวลาเกือบ ๒๐ นาฬิกา แล้วมืดสนิท ก่อนเสด็จฯ ขึ้นพลับพลาที่ประทับได้รับสั่งแก่พวกเราทั้งหมดที่เฝ้าอยู่ว่า
“โครงการนี้ทำให้เป็นของขวัญวันแซยิดใช่ไหม พอใจมาก และขอบใจมาก แล้วจะมาใหม่เมื่อครบ ๖ รอบ”
นายสิทธิลาภ บอกว่า ก็ได้แต่ถวายคำนับและกราบบังคมทูลว่า “เป็นพระมหากรุณาธิคุณ พระพุทธเจ้าข้า” แต่หัวใจพองโตขึ้นตื้นตันด้วยความปีติ และว่า นี่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด จึงอยากให้ผู้อื่นได้รับทราบไว้ด้วย
ผลสำเร็จของโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดทำเป็นแปลงสาธิตในการอนุรักษ์และฟื้นฟูดินด้วยหญ้าแฝกการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสดและอินทรียวัตถุต่าง ๆ การปลูกพืชผักไม้ผลที่เหมาะสม และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการป่าไม้โดยวิธี “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และเกษตรกร ได้เข้ามาเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และฝึกอบรมตามความสนใจ
นอกจากนี้ ยังได้นำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองและวิจัยด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้หญ้าแฝก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยอินทรีย์ จนสามารถนำมาปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก และพืชสมุนไพร เป็นต้น ไปขยายผลยังชุมชนหมู่บ้านรอบพื้นที่โครงการจำนวน ๑๒ หมู่บ้าน มีประชากร ๒,๕๑๐ ครัวเรือน ๘,๖๓๕ คน พื้นที่การเกษตร ๕,๐๐๐ ไร่
ขอบคุณเรื่องเล่าจากหนังสือ “ร้อยเรื่องเล่า : เกร็ดการทรงงาน” โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นายสิทธิลาภ วสุวัติ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
ขอบคุณเรื่องและภาพ : เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ