นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา คณะทำงานทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเลือกตั้งประธานาธิบดีวาระใหม่ แต่ประเทศไทยเรายังคงต้องตกอยู่ในสภาพการอายอย่างต่อเนื่อง ที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่สืบทอดอำนาจยาวมาถึงปีที่ 7
ซึ่งนอกจากจะถูกนักเรียน นักศึกษาออกมาไล่ทั้งประเทศแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ลาออก แถมยังออกมาตะแบงเสียงแข็ง วันก่อนพูดว่า ผมผิดอะไร ทำไมต้องออกจากนายกฯ เมื่อวานก็พูดว่า ผมผิดเองที่มาอยู่ตรงนี้ ผิดเองที่ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ และวันนี้ก็พูดว่าเราเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสักอัน
แต่ถ้าเห็นงานวิจัยเรื่อง State of the world 2019 : autocratization surges – resistance grows หรือสถานะของโลก ปี 2562 ของ Maerz และคณะฯ จากมหาวิทยาลัยโกเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่มีการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยโลก ระบุว่าประเทศไทยตกเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ถดถอยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่มีอัตราการถดถอยของประชาธิปไตยที่มากที่สุดในโลก
จากที่เคยเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในปี 2552 ที่แม้ว่ามีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 แต่สภาพการณ์ยังคงเป็นการปกครองแบบเผด็จการทหารสวมปลอกประชาธิปไตย แสดงว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่สามารถตบตาหรือพรางตาคนทั้งโลกได้
พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างว่าตนเองมาจากการเลือกตั้งและมาจากระบอบประชาธิปไตย และนี่คือเหตุผลทำให้นานาประเทศไม่ยอมเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศไทยทรุดหนักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นางสาวตรีชฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันทางสภาพัฒน์เปิดเผยว่าปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนคนจนลดลงถึง 4.3 ล้านคน แต่กลับสวนทางกับการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ซึ่งจากเดิมในปี 2561 ที่มีรายชื่อของผู้ลงทะเบียนใช้บัตรอยู่ 11.4 ล้านคน แต่ในปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน คนจนลดลงแต่ทำไมจึงมีผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มขึ้น
ต่างกับสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนถูกรัฐประหาร ที่มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการได้ตรงจุด จากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แก้ไขปัญหาค่าครองชีพโดยดูแลราคาสินค้าและการมีรายได้เพื่อเพิ่มกำลังของประชาชน การพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี ยกระดับสินค้าเกษตร สร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ
โดยประกาศให้ปี 2554-2556 เป็นปี “มหัศจรรย์ไทยแลนด์” สนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการสร้างเอกลักษณ์ และการผลิตสินค้าในท้องถิ่น นำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการกำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ
เห็นได้ชัดจากรายงานของ Oxfam หลังจากปี 2554 ประเทศไทยได้ยกระดับสถานภาพจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ในขณะที่ความยากจนลดลงไปมาก เมื่อปี 2559 ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยได้ขยับขึ้นจากอันดับที่ 11 จากปี 2558 เป็นอันดับที่ 3 ในปี 2559 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก รองจากประเทศรัสเซียและอินเดีย ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และใช้เวลาอีกเพียง 2 ปี โดยในปี 2561 ข้อมูลของ CS Global Wealth Report ระบุว่า ไทยเบียดรัสเซียและตุรกี คว้าอันดับ 1 ของโลกเป็นแชมป์เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แสดงถึงความล้มเหลวในการกระจายรายได้ จนทำให้เกิดการรวยกระจุกจนกระจาย
“พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่อยากลาออก เพราะอยากกอดเก้าอี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แน่นที่สุด โดยไม่สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชนรวมทั้งกำลังปล่อยให้ประชาชนทยอยสิ้นใจอย่างช้าๆ จากสภาพความเป็นอยู่ที่ไร้ทางออกเพราะขาดอากาศหายใจ เสมือนฆ่าประชาชนอย่างเลือดเย็นเพียงแค่ต้องการปกป้องอำนาจของตนเองและประโยชน์ของพวกพ้องเท่านั้น ประชาชนดำรงชีวิตตามยถากรรม เพียงแค่ลาออกก็ช่วยชีวิตประชาชนได้แล้ว แต่กลับไม่ทำ ประชาชนต้องมาก่อนเป็นเพียงวาทกรรม ความเป็นจริงประชาชนต้องตายก่อน” นางสาวตรีชฎา กล่าว