ประกันสังคมแจง ขานรับนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) แนะเพียงใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว แจงสิทธิผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษา ได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง
นายทศพล กฤติวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ดำเนินการนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) เพื่อลดความเลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยเริ่มดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา
วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนได้ทุกแห่ง เป็นการบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทันท่วงที โดยผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ต้อง เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเข้ารักษาจนพ้นภาวะวิกฤต หรืออาการที่แพทย์ประเมินแล้วเคลื่อนย้าย ได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง (นับรวมวันหยุด) ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าตามหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ
บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เป็นต้น
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำถึงสิทธิของผู้ประกันตนที่ได้รับการประเมินอาการให้เป็น เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ดังกล่าว สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด จนพ้นภาวะวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง (นับรวมวันหยุด) โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกันตน หรือโรงพยาบาลที่รับการรักษา หรือผู้เกี่ยวข้อง โปรดแจ้งโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนสังกัดอยู่โดยเร็ว เพื่อจะได้ดำเนินการรับช่วงการรักษาหรือให้บริการทางการแพทย์กับผู้ประกันตนต่อไป เพียงใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวกหรือสายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง