ยุทธศาสตร์ชาติ “มิติกองทัพ”

เปลว สีเงิน

ย่ำเท้าอยู่กับเรื่อง “ล่มชาติ-ล่มสถาบัน” มันช่างไร้สาระ “ถ่วงความเจริญบ้านเมือง” เสียจริงๆ

ความจริง………
ในรอบ ๕-๖ ปี ที่ผ่านมา ถ้าเราเหลียวหน้า-แลหลัง มองไปรอบๆ ตัว ก็จะพบว่าบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงเชิงพัฒนาการไปมาก ชนิดผิดหู-ผิดตา
ไม่ต้องดูอะไรมาก ขึ้นทางด่วนขั้นที่ ๒ จะพบว่าผืนดินรกร้างย่านพหลฯ ที่เห็นมาชั่วชีวิต ตอนนี้ เหมือนเนรมิต

“สถานีกลางบางซื่อ” ใหญ่โตมโหฬาร ผุดขึ้นเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบราง “ทุกชนิด” ของประเทศและภูมิภาคอาเซียน
ก่อนปี พศ.๒๕๕๗ รถไฟฟ้าในกรุง ระยะทางจุ๊ดจู๋!

พอพลเอกประยุทธ์เข้ามา ๕-๖ ปี ยุ่บยั่บนับไม่ถ้วน เดิมแค่ ๘๐ กว่ากม.ตอนนี้ ไม่ร่วม ๒๐๐ กม.เข้าไปแล้วรึนั่น?

รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ ความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน รถไฟความเร็ว สนามบิน ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม เป็นรากฐานอนาคตใหม่ สะพรึ่บรายวัน

อย่างการบินไทย ใครเข้ามาก็คิดแต่สูบเอาผลประโยชน์ ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่ตัดสินใจผ่าตัดอย่างตอนนี้
“ตายซาก” สถานเดียว ซ้ำยังจะพาประเทศตายซากไปด้วย เพราะ “คลัง” ถือหุ้นใหญ่!

โครงการหลายอย่างที่พลเอกประยุทธ์ลงหลักปักฐานเพื่ออนาคตไว้ เช่น อีอีซี ก็เอาแต่อิจฉา แช่งชักกัน
รออีกหน่อยเถอะ จะยกมือท่วมหัว เหมือนตอน “ป๋าเปรม-ปู่สมหมาย” ลดค่าเงินบาท ตอนนั้น ด่ากันขรมเมือง

สุดท้าย ยกมือไหว้กันไม่จบ เพราะไทยรอดวิกฤตเศรษฐกิจช่วงนั้น ก็ผลจาก “ลดค่าเงินบาท” นั่นแหละ

อีอีซีเหมือนกัน เหมือนต้นสัก เป็นไม้อนาคต มันต้องใช้เวลาในการหยั่งรากและเติบโต อีกหน่อยเถอะ จะยกมือไหว้ เหมือนยุค “ป๋าเปรม-ปู่สมหมาย”

เมื่อวาน ผมดูยูตุป ดูแล้วนึกถึงยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่ฝ่ายค้านเขาหมายหัว แก้รัฐธรรมนูญวันไหน ต้องล้มพรบ.ยุทธศาสตร์วันนั้นก่อนเพื่อน
จำได้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ สู่เป้าหมาย ประเทศ “มั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน”

กลาโหม เผยแพร่เรื่อง.”พัฒากองทัพ” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านยูตุป
ดูแล้ว “นึกไม่ถึง” กลาโหมไปสู่จุด “เหนือคาดหมาย” ได้ขนาดนี้!

จะแกะคำบรรยายในคลิปมาให้อ่าน ประมาณนี้

“ผลงานคนไทยของกระทรวงกลาโหมและสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ”

ความก้าวหน้าโครงการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีชั้นสูง ที่พัฒนาเองในประเทศ โดย “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศของไทย”

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มีความก้าวหน้า พึ่งพาตนเองได้ มีศักยภาพแข้งขันระดับสากล
มีพรบ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผลิตยุทโธปกรณ์ขึ้นใช้เอง ลดการจัดหาจากต่างประเทศ และมุ่งสู่เชิงพาณิชย์ได้
สำนักงานปลัดกห.ทัพบก, เรือ, อากาศ ได้ประสานการวิจัย-พัฒนาและผลิตยุทโธปกรณ์ขึ้นใช้เองตามความต้องการของเหล่าทัพ

ได้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับ “บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)” กับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” กับ “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ”

ร่วมตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม”
ด้านมาตรการทางทหาร ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ

อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานฯ สรุปได้ ดังนี้

-ปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มิลลิเมตร อัตตาจร ล้อยาง รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่ผู้ผลิตได้มาตรฐานสากล ทำให้ปัจจุบันช่างฝีมือมีขีดสามารถในการผลิตชิ้นส่วนประกอบปืนเอง จำนวน ๔๒ ชิ้นส่วน
ปัจจุบัน ส่งมอบให้ทบ.๑๘ กระบอก ทร.๑๒ กระบอก
ทดลองใช้ประกอบการยุทธวิธี ผลประเมิน พึงพอใจสูง

-ปืนใหญ่ ๑๐๕ มม. M.425 อัตตาจร ล้อยาง ผลิตขึ้นเองทั้งกระบอก
เดิมเป็นปืนใหญ่แบบลากจูง แต่พัฒนาเป็นอัตตาจร ส่งมอบทบ. “กองพันทหารปืนใหญ่ ที่ ๒๐” ไปแล้ว ๘ กระบอก

-โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๑๒๐ มม.แบบอัตตาจร ล้อยาง
วิจัยพัฒนาร่วมกับอิสราเอล รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ATMM สามารถสร้างระบบเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด ๑๒๐ มม.แบบอัตตาจร ล้อยาง ขึ้นเอง ด้วยเทคโนโลยีไฮโดรนิวเมติก รับแรงสะท้อนถอยหลังของลำกล้อง

สามารถลดแรงสะท้อนถอยหลังได้มากถึงร้อยละ ๙๐ เทียบเท่ากับระบบรับแรงจากต่างประเทศ
รวมทั้งวิจัยระบบอำนวยการยิงแบบอัตโนมัติ ประกอบด้วยการพัฒนาระบบค้นหาเป้าหมาย การส่งคำขอยิงแบบดิจิทัลมายังศูนย์อำนวยการยิง
ที่พัฒนาโปรแกรมการคำนวนหลักฐานยิงและทำการยิงอัตโนมัติ ซึ่งมีประสิทธิภาพเสมือนระบบและยุทโธปกรณ์ที่จัดหาจากต่างประเทศ

ขีดสามารถที่สำคัญคือ คล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ รวดเร็วในการตั้งที่ยิง และการย้ายที่ยิง
โดยเข้าที่ตั้งยิงแบบเร่งด่วนอัตตาจร ใช้เวลา ๒๕ วินาที ซึ่งแบบลากจูง ใช้เวลามากถึง ๑.๔๑ นาที
เข้าที่ตั้งยิงประณีต จะใช้เวลาไม่เกิน ๒ นาที ขณะที่แบบลากจูง ใช้เวลาถึง ๕.๓๐ นาที

ขณะนี้ ได้ผลิตเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด ๑๒๐ มม.แบบอัตตาจร ล้อยาง ส่งมอบให้ “กองพลทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์” แล้ว ๘ หน่วยยิง อยู่ระหว่างผลิตอีก ๑๒ หน่วยยิง
การผลิตกระสุนปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. ชนิดระเบิด M 1 และการเพิ่มประสิทธิภาพสายการผลิตปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม.
โดยจัดตั้งสายการผลิตแบบออโตเมชั่น เพื่อให้สามารถผลิตกระสุนปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม.ชนิดระเบิด M 107 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พศ.๒๕๖๗ พร้อมสำหรับการผลิตจำหน่ายให้กับเหล่าทัพและต่างประเทศ

ชนวนหัวกระสุนปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม.และ ๑๕๕ มม. อยู่ระหว่างวิจัย เพื่อสามารถผลิตกระสุนปืนใหญ่ได้อย่างครบนัดในอนาคต

ในส่วนของหัวชนวนลูกระเบิดทุกชนิด ได้วิจัยพัฒนาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์, นักโลหวิทยาและภาคเอกชน จนสามารถผลิตขึ้นใช้เอง โดยไม่ต้องจัดหาจากต่างประเทศ

รวมทั้งได้ผลิตกระสุนปืนเล็ก ขนาด ๕.๕๖ มม.เพื่อจำหน่ายให้กับกองทัพบกและกองทัพสิงคโปร์ ๑๒๐,๐๐๐ นัด

“โครงการวิจัยและพัฒนาปืนเล็กยาวขนาด ๕.๕๖ มม.”
สำนักงานปลัดฯ ร่วมภาคเอกชนและสถาบันเทคโนโลยีช่างกลปทุมวัน ได้วิจัยและพัฒนาปืนต้นแบบมาตรฐาน ลำกล้องยาว ๒๐.๐ นิ้ว ระยะยิงหวังผลไกลสุด ๔๐๐ เมตร
และแบบไรเฟิลจู่โจม ลำกล้องยาวขนาด ๑๔.๕ นิ้ว ระยะยิงหวังผลไกลสุดมาตรฐานนาโต ๒๕๐ เมตร
โดยเอาคุณสมบัติเด่นของ AK 47 ที่ทนทาน และปืนเล็กยาว M 16 ที่แม่นยำและคล่องตัวเข้ามาผสมผสานกัน
ทำให้ได้ต้นแบบที่แข็งแกร่งทนทาน ปฏิบัติการยิงได้ทุกสภาพลมฟ้าอากาศ น้ำหนักเบา คล่องแคล่ว แม่นยำ แรงรีคอยน์กว่าปืนเล็กยาว
ยิงได้ทั้งคนถนัดซ้ายและขวา โดยพัฒนาให้มีปุ่มปลดซองกระสุนและปุ่มปลดล็อคลูกเลื่อนทั้งซ้ายและขวา
ชิ้นส่วนปืน ร้อยละ ๘๐ ผลิตเองในประเทศ ปัจจุบันได้ผลิตปืนเล็กยาวต้นแบบ ๑๖ กระบอก และเตรียมผลิตใช้ในหน่วยขึ้นตรง
โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการวิจัยและพัฒนาปืนพกขนาด ๑๑ มม.ได้ออกแบบและจัดทำปืนต้นแบบการวิจัย ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบชิ้นส่วนต่างๆ
ได้แก่ส่วนผสมโลหะ ความแข็ง ความเหนียว แรงดันรังเพลิง แรงถอยลูกเลื่อน และการยิงทดสอบในภาคสนาม


“โครงการวิจัยและพัฒนาสายการผลิตระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เชิงอุตสาหกรรม ที่มีคุณลักษณะพิเศษ” เพื่อนำไปใช้กับหน่วยความมั่นคง ที่ต้องการความปลอดภัย ลดการรั่วไหลข้อมูลภาพและเสียง ที่อาจลักลอบเผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศ
“มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ขึ้นใช้เอง”
โดยเพิ่มระบบปัญญาประดิษฐ์ ระบบการตรวจจับแบบ IOT ที่มีความหลากหลาย พัฒนาให้มีคุณภาพระดับนำไปใช้งานทางทหารได้

-กองทัพบก สามารถผลิตกระสุนปืนเล็กขนาด ๕.๕๖ มม.
-กองทัพเรือ สามารถผลิตกระสุนฝึกขนาด ๓๐ มิลลิเมตร สำหรับปืนเรือ และ BTR-3E1 ได้
-กองทัพอากาศ ผลิตกระสุนต่อสู้อากาศยานขนาด ๓๐ มม.รวมทั้งสามารถผลิตอากาศยานไร้คนขับ U-1 ได้

“สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” วิจัยและผลิตยานเกราะล้อยาง สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก และอากาศยานไร้คนขับ ขนาดเล็กได้

“การเตรียมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”

สำนักงานปลัดฯได้จัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการข้อมูลด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”
เป็นศูนย์กลาง รวบรวมข้อมูลและศึกษา, ค้นคว้า, วิเคราะห์ข้อมูลอาวุธยุทโธปกรณ์, วิเคราะห์อำนาจกำลังรบเปรียบเทียบ และนำไปสู่การวิจัย-พัฒนา

โดยศึกษาดูงานร่วมมือกับ DEPA “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

และการจัดการ Big Data สำหรับวิเคราะห์วางแผน ใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีประสิทธิภาพ


การดำเนินการดังกล่าวนี้….
ร่วมกับภาคเอกชนทั้งใน-นอกประเทศ จัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” ผลิต, ซ่อมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ในราชการ และการผลิตเชิงพาณิชย์
เป้าหมาย “ส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของภูมิภาคอาเซียน”
บริเวณตำบลหนองกุ่ม บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ ๓,๕๐๐ ไร่ มีความเหมาะสมที่จะตั้งนิคมฯ

มีภาคเอกชนหลายบริษัททั้งในและต่างประเทศ สนใจที่จะเข้ามาร่วมมือ ร่วมลงทุน
นี้เป็นการเปิดแนวคิดใหม่ในการปฏิรูปอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย
สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความพร้อมรบให้กับเหล่าทัพ เป็นหลักประกันด้านความมั่นคง สะท้อนถึงการพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

ครับ…..
นี่คือ “มิติใหม่” “กลาโหม-กองทัพ” ที่ไปถึงขั้น “อุตสาหกรรมผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์” ทั้งใช้เองและจำหน่าย

เลิกเป็น “รุ่นใหม่-รุ่นเก่า” หลังเขาได้แล้ว เพราะประเทศกำลังขึ้นไปอยู่บน “ยอดเขา” แล้ว!

ภาพ:สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

 

 



Written By
More from plew
“บอลไทย” ขั้น “บอลเทพ” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน “ราชา” แห่งซีเกมส์คือ “ฟุตบอล” แล้ว “ทีมชาติไทย” ก็ใกล้สู่บัลลังก์ “ราชันแห่งซีเกมส์” ที่กำลังแข่งขันที่เวียดนามขณะนี้ เย็นวาน (๑๙...
Read More
0 replies on “ยุทธศาสตร์ชาติ “มิติกองทัพ””