รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผยตัวเลขแรงงานที่ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือในรอบ 1 ปี เกินเป้าหมาย ลั่น! เดินหน้าเต็มสูบ ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
วันที่ 25 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้าหมายดำเนินการ 3,827,200 คน ผลการดำเนินงานพัฒนาทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงานของประเทศรวม 4,728,485 คน
ประกอบด้วย ดำเนินการเอง จำนวน 136,882 คน ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 จำนวน 4,591,603 คน
ซึ่งในส่วนที่ดำเนินการเองนั้น มีหลายโครงการที่น่าสนใจ อาทิ โครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ด้วยความร่วมมือกับสมาคมขนส่งด้านโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) รับนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรีเข้าฝึกอบรมและป้อนเข้าสู่ตลาดด้านโลจิสติกส์ จำนวน 323 คน
โครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 12,462 คน โครงการศูนย์ฝึกอบรมความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีขั้นสูง จำนวน 10,710 คน โครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ จำนวน 11,518 คน ประกอบด้วย
ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด ผู้ต้องขังและเยาวชนในสถานพินิจ คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ แรงงานนอกระบบ ทหารเกณฑ์ก่อนปลดประจำการ แรงงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการเพิ่มผลิตภาพมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40.09 ลดการสูญเสียในวงจรการผลิตหรือบริการเฉลี่ยร้อยละ 40.38 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็นเงินมากกว่า 433 ล้านบาท
และสามารถพัฒนาทักษะพนักงานในสถานประกอบกิจการให้มีศักยภาพแรงงานสูงขึ้น จำนวน 15,879 คน สร้างนักพัฒนาผลิตภาพแรงงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 258 คน
นอกจากนี้ ยังดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันมีประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้วจำนวน 83 สาขาอาชีพ โดยผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในแต่ละระดับจะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือดังกล่าว สูงสุดอยู่ที่ 900 บาท คือสาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก (โภชนบำบัด) ระดับ 2
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการรับรองความรู้ความสามารถนั้น ปัจจุบันมีผู้ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถจำนวน 140,330 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ย. 63) ประกอบด้วย ช่างไฟฟ้าภายในอาคารจำนวน 136,466 คน ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็กจำนวน 3,286 คน กลุ่มช่างเชื่อมรวมจำนวน 578 คน ซึ่ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางทุกจังหวัด
“กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินงานการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการสร้างแรงงานคุณภาพให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ยกระดับฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีระดับฝีมือที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและมีความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ
ตลอดจนการให้แรงงานกลุ่มเปราะบาง ได้เข้าถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสทางอาชีพให้ทุกคนสามารถมีงานทำ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ” รมช.แรงงาน กล่าวท้ายสุด