ดีอีเอส เผยสถิติข่าวปลอมรอบ 10 เดือน พบมีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 12,964,044 ข้อความ ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือการสนทนาบนโลกออนไลน์ (Social Listening) 98.60% หลังคัดกรองพบข่าวที่ต้องตรวจสอบ 6,039 เรื่อง เกินครึ่งเป็นข่าวปลอมในหมวดสุขภาพ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงฯ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันทั้งกับทุกหน่วยงานราชการ 151 แห่ง การรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์ (Social Listening)เกี่ยวกับข่าวปลอม
โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ดูแล กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือกำจัดข่าวปลอม เน้นว่าเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และจะมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในข่าวที่ถูกต้อง เพื่อประชาชนทุกคนให้เข้าใจ และรู้เท่าทันว่าข้อมูลที่เห็นจากสื่อออนไลน์/โซเชียล หรือได้รับการแชร์ต่อมาว่า ข่าวใดเป็นข่าวปลอม ข่าวจริง หรือข่าวบิดเบือน
“ปัจจุบันมีข่าวปลอมที่เกิดขึ้นตลอดเวลาบนโลกออนไลน์ ผู้เสพสื่อต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร มีสติ ใช้วิจารณญาณก่อนแชร์ และขอให้ทุกส่วนราชการออกมาช่วยชี้แจง ทำความเข้าใจในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏสู่สาธารณชนอย่างรวดเร็ว การระงับ ยับยั้ง การแพร่กระจายของข่าวปลอมเป็นภารกิจสำคัญของทุกหน่วยที่ต้องร่วมมือกับดีอีเอส เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายจากข่าวปลอมที่จะมีต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ” นายพุทธิพงษ์กล่าว
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การกำหนดให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือเป็นเจ้าของข้อมูลที่มีการนำไปบิดเบือนเป็นข่าวปลอม และเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์/ระบบอินเทอร์เน็ต ต้องมีการรายงานกลับไปยังศูนย์ฯ ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับแจ้งผ่านทางอีเมล เนื่องจากกระแสออนไลน์แพร่กระจายได้เร็วมาก และสามารถสร้างความเสียหายในเวลารวดเร็ว ดังนั้นหากมีการรายงานตอบกลับมายังศูนย์ฯ ได้ทันการณ์เท่าไร ขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องและจัดการแก้ไขข่าวปลอมก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดผลกระทบจากความเสียหายให้ได้เร็วที่สุด
“ข่าวปลอมบางข่าวนอกจากสร้างความตื่นตกใจให้กับประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องแล้ว บางครั้งยังสร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้มีการแชร์ข่าวปลอมว่ารัฐบาลถังแตก ไม่มีเงินจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ ข่าวนี้ในอีกด้านหนึ่งส่งกระทบต่อการลงทุนและความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศด้วย” นายภุชพงค์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 10 เดือนที่ผ่านมา (1 พ.ย.62 – 31 ส.ค.63) จากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 12,964,044 ข้อความ โดยช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากอันดับ 1 คือ ระบบติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์ (Social Listening Tools) 98.60% หรือ 12,392,431 ข้อความ ตามมาด้วย การแจ้งเบาะแสผ่านบัญชีไลน์ทางการ 1.32% เฟซบุ๊กแฟนเพจ 0.06% และเว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 0.02%
ทั้งนี้ จากจำนวนข้างต้นมีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 17,551 ข้อความ โดยจากการคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องตรวจสอบ 6,039 เรื่อง แบ่งเป็น หมวดสุขภาพ 54% (3,267 เรื่อง), หมวดนโยบายรัฐ 40% (2,417 เรื่อง), หมวดเศรษฐกิจ 4% (237 เรื่อง) และหมวดภัยพิบัติ 2% (118 เรื่อง)
ปัจจุบันมีข่าวที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการเผยแพร่แล้ว 932 เรื่อง หมวดหมู่ที่ทำการประชาสัมพันธ์มากสุดตามลำดับ ดังนี้ หมวดสุขภาพ 70% (656 เรื่อง), หมวดนโยบายรัฐ 19% (172 เรื่อง), เศรษฐกิจ 7% (64 เรื่อง) และหมวดภัยพิบัติ 4% (40 เรื่อง)
“อยากให้พวกเราช่วยกันในสังคมออนไลน์ ผมเชื่อว่าข่าวปลอมไม่ได้หมดไปจากสังคมออนไลน์ แต่การสร้างการตระหนักรู้ การสร้างการรับรู้ การช่วยกันป้องกัน และการให้สังคมช่วยตรวจสอบผู้กระทำผิดทางออนไลน์ ก็จะเป็นสิ่งที่ป้องกันที่ดีที่สุด” นายภุชพงค์กล่าว