เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 เวลา 09.15 น. ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “สิทธิประโยชน์ใหม่ ของกองทุนประกันสังคม” โดยมี นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขานุการคณะกรรมาธิการการแรงงาน ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อการศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและศึกษาแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงาน คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา คณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม คณะทำงานเพื่อการศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน และศึกษา แนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงาน
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นางสาวภคมน ศิลานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบ บริการทางการแพทย์ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพสำนักงานประกันสังคม ดร.กิริฎา เถาพิจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นายประสาน ตันประเสริฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง นายมนัส โกศล ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และสื่อมวลชน เข้าร่วมสัมมนาฯ และให้การต้อนรับ
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวกับสื่อมวลชน ภายในงานพิธีเปิดสัมมนาฯ ว่า จากสถานการณ์ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงจากการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าแรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แม้ว่ากองทุนประกันสังคมได้มีมาตรการชดเชยจ่ายเงินว่างงานแก่ผู้ประกันตนแล้วก็ตาม แต่ยังมีจำนวนผู้ประกันตนจำนวนมากที่เดือดร้อนมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้บรรเทาปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว
อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร จนต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก หากกองทุนประกันสังคมสามารถเพิ่มความช่วยเหลือในรูปแบบเงินให้กู้ยืมแก่แรงงานก็จะบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตน และเป็นการบริหารผลตอบแทนของกองทุนเพิ่มมากกว่าช่องทางปกติที่ดำเนินการอยู่
ทั้งนี้ การนำเงินจากกองทุนประกันสังคม ดำเนินได้หลายรูปแบบ คือ การนำเงินจากแหล่งเงินทุน ไปช่วยเหลือทั้งผู้ประกันตน และผู้ประกอบการที่มีการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ถือเป็นหนึ่ง ในเครื่องมือทางการเงินรูปแบบหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว ให้แก่กลุ่มผู้ประกันตนในระบบอย่างเป็นรูปธรรม และยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ภายหลังการแพร่ของโรคได้คลี่คลายลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อเหตุการณ์ เห็นควรให้มีการจัดตั้งแหล่งเงินทุน เพื่อดำเนินการให้กู้ยืม แก่ผู้ประกันตน ผู้ประกอบการโดยตรง พัฒนายกฐานะเป็นธนาคารแรงงานต่อไป อีกทั้งยังสามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้อย่างง่าย โดยไม่ถูกตัดสิทธิด้านเครดิตบูโร หรือหลักเกณฑ์ด้านหลักประกันที่เข้มงวด และไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบอีกต่อไป