รมช.แรงงาน หารือร่วมภาคอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทย รองรับ 12 อุตสาหกรรมของประเทศ

วันที่ 17 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ร่วมกับสถานประกอบกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม 37 หน่วยงาน

เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และความต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับสถานประกอบกิจการ ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศต่อไป

โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าร่วม ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

รมช. แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีมาตรการช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ภายใต้นโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับกระทรวงแรงงานจาก “กระทรวงด้านสังคม” ไปสู่ “กระทรวงด้านเศรษฐกิจ” ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยใช้หลัก 3 ประการคือ

“สร้าง-ยก-ให้” สร้างแรงงานคุณภาพให้มีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สถานประกอบกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve ทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC และเขตพัฒนาพิเศษในปี 2563 ยกระดับฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ตลอดจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นให้แก่แรงงานทั่วไปและนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา เพื่อนำไปสู่การรับรองความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะ ให้แรงงานกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการฝึกอบรมทักษะฝีมือ เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของแรงงานและครอบครัว

รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 วิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี กพร. จึงมีแนวทางที่จะสร้าง Training Platform เพื่อแนะนำหลักสูตรพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตลอดจนนำหลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดในประเทศไทยมาไว้ที่เดียว

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายที่จะพัฒนาฝีมือแรงงาน 4.13 ล้านคน ดำเนินการโดย กพร. กว่า 1.3 แสนคน และส่งเสริมสถานประกอบกิจการดำเนินการ 4 ล้านคน นอกจากนี้ กพร. ยังมีมาตรการที่จะช่วยเหลือสถานประกอบกิจการ คือ กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงกระตุ้นและจูงใจให้สถานประกอบการพัฒนาลูกจ้างของตน


จากการประชุมหารือในครั้งนี้ พบว่า ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมได้ขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานช่วยเหลือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ร่วมกับกระทรวงศึกษา กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขต EEC ตลอดจนสร้างฐานข้อมูลตลาดแรงงานที่เป็น Big data

โดยให้สถานประกอบการระบุความต้องการแรงงานในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ภาครัฐนำไปกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและลดขั้นตอนการทำงาน

นอกจากนี้ ยังขอให้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในรูปแบบใหม่ทั้งทักษะพื้นฐานและเพิ่มเติมทักษะด้านภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น เนื่องจากภายหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจเปลี่ยนตาม สำหรับผลการหารือวันนี้จะนำเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.พช) เพื่อขับเคลื่อนต่อไป

Written By
More from pp
“ไทยแลนด์…แลนด์มาร์คแห่งความอร่อย” พิชัย การันตี 139 ร้านเด็ด มอบ Thai SELECT Award 2024 โกยเงินนักท่องเที่ยว กระจายลงสู่ทั่วประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (30 ตุลาคม 2567) ท่านนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณตราสัญลักษณ์...
Read More
0 replies on “รมช.แรงงาน หารือร่วมภาคอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทย รองรับ 12 อุตสาหกรรมของประเทศ”