คอลัมน์ ผสมโรง
สันต์ สะตอแมน
เริ่มตีทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2554..
ปีนี้..2562 จึงนับเป็น “ครั้งที่ 9”แล้ว สำหรับ “โครงการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ” โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำเพื่อเป็นหลักประกันว่า..
ภาพยนตร์เหล่านี้จะได้รับการอนุรักษ์อย่างดีเพื่อส่งต่อให้ชนรุ่นหลัง!
ซึ่ง “หลักเกณฑ์” ในการคัดเลือกนั้น หอภาพยนตร์ฯอธิบายว่า เป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่า บันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย มีบูรณภาพ หรือมีอิทธิพลต่อสังคมในยุคสมัยต่างๆ
และครั้งนี้ ก็ได้มีหนังไทยถึง 15 เรื่องที่ผ่านหลักเกณฑ์ที่ว่า ประกอบด้วย
1.เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๖๙ (2469)
2. การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM (2470)
3. ชมสยาม SEE SIAM (ไม่สมบูรณ์) (2473)
4. เลือดชาวนา (เศษที่เหลืออยู่) (2479)
5. ปิดทองหลังพระ (เศษที่เหลืออยู่) (2482)
6. กะเทยเป็นเหตุ (2497)
7. BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS (2501)
8. มวยไทย (2506)
9. นางสาวโพระดก (2508)
10. “ฟ้าเมืองไทย” ฉลองขึ้นปีที่ 8 พุธ 7 เมษา 19 (2519)
11. ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด CRAZY ME (2536)
12. ฝัน บ้า คาราโอเกะ FUN BAR KARAOKE (2540)
13. พี่มาก..พระโขนง PEE MAK (2556)
14. อาปัติ KARMA (2558)
และ15. เรื่อง INSECTS IN THE BACKYARD แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2560)
ครับ..มีใครเคยผ่านตาเรื่องไหนมาบ้างล่ะ? ผมน่ะได้ดูก็เพียง 5-6 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสุดท้าย ตอนดูก็ในฐานะ “กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์” เมื่อสัก 8-9 ปีมาแล้วมั๊ง?..
และก็เป็น 1 ในคณะกรรมการที่มีมติ “สั่งแบน”หนังเรื่องนี้!
ส่วน “อาปัติ” ก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ผมค่อนข้างหนักใจในฐานะกรรมการฯ เพราะหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระ-ศาสนาต้องยอมรับว่าละเอียดอ่อนมาก..
แต่หนังก็ผ่านโดยได้เรต 18+ หมายถึงไม่ต้องตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าชมในโรงหนัง!
การได้ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของ “อาปัติ” หอภาพยนตร์ฯให้เหตุผลว่า.. “เป็นภาพยนตร์ที่จุดประเด็นถกเถียง อย่างกว้างขวาง..เปรียบเสมือนปรอทวัดอุณหภูมิความอ่อนไหวของสังคมไทยที่มีต่องานศิลปะ ว่าด้วยพระพุทธศาสนา
ในขณะเดียวกันยังกล้าหาญที่จะถ่ายทอดให้เห็นถึงพระแท้และพระเทียม ที่ปะปนกันอยู่ในสังคม รวมไปถึงประเด็นการตั้งคำถามของวัยรุ่นที่มีต่อความเชื่อ และหลักปฏิบัติต่าง ๆ ของสงฆ์
นอกจากนั้นการหลอมรวมความเป็นหนัง “พระ” และหนัง “ผี” เข้าด้วยกันอย่างไม่อาจแยกขาด
จึงทำให้ อาปัติ กลายเป็นภาพอุปมาที่ดีของศาสนาพุทธแบบไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเอกสารบันทึกความคิด และอารมณ์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีต่อศาสนาและความเชื่อในยุคสมัยของพวกเขา”
ใครที่ยังไม่ผ่านตา ก็ลองค้นหาดูกัน..
จะเป็นดังคำอธิบาย..จริงมั้ย?