27 ส.ค. 63 เวลา 09.00 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดงาน “เกษตรสร้างชาติ ครั้งที่ 2 และรวมพลคนเกษตรสร้างชาติ”
พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “เกษตรทางรอดของประเทศไทย” ขับเคลื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรขององค์กรเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชุน โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากสหกรณ์เกษตรกรจากทั่วประเทศ วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ร่วมงานกว่า 2,000 คนด้วย
ทั้งนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรี ชื่นชมภาคการเกษตรที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 8 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 25 ล้านรายว่า มีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยไทยส่งออกผลผลิตเกษตรจำนวนมาก อาทิ ยางพารา และมันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาล และผลไม้
อย่างไรก็ตาม เข้าใจดีถึงความท้าทายของภาคการเกษตรที่ต้องเผชิญ ทั้งการไหลออกของแรงงานหนุ่มสาว ข้อจำกัดในการรับและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ราคาพืชผลการเกษตรในตลาดโลกที่มีความผันผวน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยแล้งและอุทกภัย รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร
รัฐบาลจึงได้มีนโยบายทั้งโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปี 2562/63 โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ชาวเกษตรกร
ซึ่งทุกกระทรวงจะต้องทำงานสอดประสานกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะภาคส่วนท้องถิ่นที่มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำเสนอโครงการจากความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้มีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ตัวอย่างการทำระบบกักเก็บน้ำใต้ดินเพื่อมาใช้กับเกษตรแปลงเล็ก เป็นต้น
การจัดงานเกษตรสร้างชาติและรวมพลคนเกษตรสร้างชาติวันนี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาภาคการเกษตร เสริมสร้างเครือข่ายการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตร โดยใช้ต้นทุนทางภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีในแต่ละท้องที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบการผลิตที่ยั่งยืนผ่านโครงการและกลุ่มต่างๆ
เช่น เกษตรแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันเพื่อยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร โดยจับมือกับภาคเอกชนเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในและตลาดส่งออก
ซึ่งต้องขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันสร้างการรับรู้กับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ให้มากขึ้น ส่งเสริมการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ปริมาณน้ำและความต้องการของตลาด เพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ สร้างมูลค่ามวลรวมการเกษตรให้สูงขึ้น ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลกทั้งเทคโนโลยีและสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน ก็ต้องติดตามประเมินผลการทำของเจ้าหน้าที่อยู่เสมอเพื่อปรับการทำงานให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของเกษตรกรด้วย