กรมการแพทย์ผิวหนังแนะนำ วิธีการดูแลผู้ป่วย “โรคน้ำกัดเท้า” ในช่วงหน้าฝน

กรมการแพทย์ โดย สถาบันโรคผิวหนัง ชี้โรคน้ำกัดเท้า ปัญหาผิวหนังที่มาในช่วงหน้าฝน พร้อมแนะนำวิธีการดูแลตัวเองสำหรับผู้มีปัญหาโรคน้ำกัดเท้า ควรหลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ

ควรทำความสะอาดเท้า ง่ามเท้า ขอบเล็บทุกครั้งหลังลุยน้ำด้วยน้ำและสบู่ และเช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ ถ้ามีอาการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์  และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนหรือในพื้นที่อุทกภัยมีน้ำท่วมขังมักจะมีปัญหาสุขภาพตามมาได้เสมอ  ไม่ว่าจะเป็นโรค หรืออาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พบบ่อย เช่น โรคพยาธิไชเท้า โรคฉี่หนู ผื่นผิวหนังอักเสบ แมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย เป็นต้น รวมถึงโรคผิวหนังบางโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ในช่วงหน้าฝน คือ โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งถือเป็นโรคที่ประชาชนไม่ควรละเลย และควรมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ ที่จะตามมาได้ โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากการระคายเคืองทางผิวหนัง โดยจะมีลักษณะโรคได้หลากหลาย ได้แก่ มีการอักเสบ ระคายเคืองและติดเชื้อ ขึ้นกับช่วงเวลาหรือความถี่ที่ผิวหนังสัมผัสน้ำ ผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ เซลล์ผิวหนังจะอุ้มน้ำ ทำให้บวมและเปื่อยฉีกขาดได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ง่ามนิ้วเท้า จึงควรสังเกตอาการ หากมีความผิดปกติให้รีบพบแพทย์เฉพาะทาง ไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทาน เพราะอาจเกิดอันตรายได้

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคน้ำกัดเท้า จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะแรก เกิดในช่วง 1-3 วันแรก  ผิวหนังจะเปื่อยเมื่อแช่น้ำ ผิวมีลักษณะแดง มีอาการ คัน แสบ ในระยะที่สอง ช่วง 3-10 วัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ผิวหนังในระยะนี้จะมีอาการแดง บวม ปวดเจ็บ มีหนองหรือน้ำเหลืองซึม สำหรับระยะสุดท้าย เกิดขึ้นในช่วง 10-20 วัน

ถ้าผิวหนังแช่น้ำต่อเนื่อง จะมีลักษณะแดง คัน มีขุยขาว เปียกและเหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาว อาจเป็นการติดเชื้อรา อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้า แพทย์ผิวหนังแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้


1.หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ให้ใส่รองเท้าบูท และเมื่อขึ้นจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่ เช็ดเท้า ง่ามนิ้วเท้าให้แห้งอยู่เสมอ และทาครีมบำรุงผิว

2.ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อยคัน แสบ ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น 0.02% Triamcinolone cream วันละสองครั้งจนผื่นหาย

3.ถ้ามีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว มีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนอง ซึ่งเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

4.ถ้าเท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่องอาจจะทำให้ผิวหนังติดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาว ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา เช่น ขี้ผึ้งวิธฟีล (Whitfield’s ointment) หรือโคลไทรมาโซลครีม (Clotrimazole cream)

5.ถ้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน (Betadine)

6.ควรระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจทำให้เกิดบาดแผล ซึ่งจะเป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้

และสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้า ควรทำความสะอาดเท้า ง่ามเท้า ขอบเล็บทุกครั้งหลังลุยน้ำด้วยน้ำและสบู่ และเช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ

Written By
More from pp
ยุติธรรม แจงนักโทษพิเศษกรุงเทพติดโควิด 4 รายส่งรักษาตัวรพ.ราชทัณฑ์แล้ว
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แจงนักโทษพิเศษกรุงเทพติดโควิด 4 รายส่งรักษาตัวรพ.ราชทัณฑ์แล้ว เป็นผู้ต้องขังใหม่พบในแดนกักโรค ยันแดนปกติไม่มีเพราะมาตรการเข้มงวด เผย “สมศักดิ์” กำชับมาตรการเข้มข้น เตรียมความพร้อมรับมือเผื่อเหตุฉุกเฉิน
Read More
0 replies on “กรมการแพทย์ผิวหนังแนะนำ วิธีการดูแลผู้ป่วย “โรคน้ำกัดเท้า” ในช่วงหน้าฝน”