ปิยบุตร ชี้ 5 ลักษณะ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หวังฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีสติ

เช้าวันนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายในหัวข้อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

โดยระบุตอนหนึ่งว่า การบรรยายครั้งนี้สืบเนื่องจากการชุมนุมที่กลุ่มนักศึกษามีข้อเรียกร้องในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือเรื่องของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นก็เพื่อธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เคียงคู่กับประชาธิปไตย

ทั้งนี้นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของสถาบันกษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เลื่อนไหลตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่บริบทเวลา แต่กระทั่งวันนี้ได้กลายเป็นอัตลักษณ์ในรัฐธรรมนูญไทยเรียบร้อย ซึ่งไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชอบหรือไม่ชอบ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้ถูกสถาปนาแล้วโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ทว่าเราก็ไม่เคยได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนว่านิยามคืออะไร

จึงอยากชวนทำความเข้าใจเรื่องนี้ โดยต้องแยกก่อน เรื่องรูปแบบของรัฐกับระบอบการปกครอง ประเทศไทยนั้น ตำแหน่งประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์ที่มาจากการสืบทอดทางสายโลหิต ดังนั้นรูปแบบของรัฐย่อมเป็นราชอาณาจักร ขณะที่ระบอบการปกครอง เราใช้ระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ตามระบอบนี้ก็ไม่ได้ทำให้รูปแบบของรัฐเปลี่ยนไปแต่อย่างใด

และอยากชวนพิจารณาคำว่า #ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในนี้มี 2 ประโยค ประโยคหลักคือ “ระบอบประชาธิปไตย” และมีอนุประโยคคือ “มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยมีคำว่า “อัน” เป็นคำเชื่อม ดังนั้นจากรูปประโยคนี้ แน่นอนว่าประโยคแรกคือระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องเป็นหลัก การมีองค์ประกอบคือพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ต้องไม่ทำลายประชาธิปไตย

ในทัศนะของปิยบุตรระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ประสานองค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบเข้าด้วยกัน คือ ราชอาณาจักร ประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา 3 อย่างนี้รวมกันเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

2. หลักการThe King can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิด เพราะ The King can do nothing พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรเลย นายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารประเทศต้องรับผิดชอบ เพราะประมุขของรัฐ ไม่ว่าจะประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน กรณีของประธานาธิบดีในหลายประเทศจะดำเนินคดีตอนดำรงตำแหน่งไม่ได้ ต้องพ้นจากตำแหน่งก่อน ในส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต ไม่มีวันพ้นตำแหน่ง ก็ดำเนินคดีไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้น การกระทำทางสาธารณะจึงต้องกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องไม่ได้ทำอะไรด้วยพระองค์เอง แต่คนรับสนองพระบรมราชโองการเป็นคนทำ เป็นคนรับผิดชอบ เพื่อป้องป้องพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

แต่ทั้งนี้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์ต้องมีเงื่อนไข 4 ประการ จึงจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ คือ

  1. จะไม่กระทำการใดๆ ตามลำพังโดยพระองค์เอง แต่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง
  2. ไม่มีการแบ่งแยกว่าการกระทำใดเป็นของพระมหากษัตริย์และการกระทำใดเป็นของรัฐบาล
  3. ไม่มีใครรู้ว่าพระมหากษัตริย์คิดอะไร การให้คำแนะนำอะไรต่างๆ ต้องทำโดยลับ รัฐบาลต้องไม่นำมาอ้างหรือเปิดเผย และ
  4. พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะต้องให้คณะรัฐมนตรีรู้เห็นเพราะเป็นคนรับผิดชอบ

3. ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจขอบเขตได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และคนสถาปนารัฐธรรมนูญคือ #ประชาชน พระมหากษัตริย์ต้องเคารพและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้นกองทัพที่รัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญแล้วไปให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรอง เท่ากับว่ากำลังบีบบังคับให้พระมหากษัตริย์ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ กำลังบีบบังคับพระมหากษัตริย์ให้ทำผิดรัฐธรรมนูญ

4. ในโลกสมัยใหม่ เรื่องของโองการสวรรค์ ความเป็นสมติเทพเป็นเรื่องเก่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตรย์ในยุคสมัยใหม่ เป็นมนุษย์ ความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมอบให้ต้องเกิดโดยสมัครใจ ไม่ใช่เกิดจากการบังคับ

5. พระมหากษัตรย์ไม่ใช่เจ้าของประเทศ แต่เป็นพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ดังนั้นต้องมีการแบ่งแยกบทบาท บุคคล ทรัพย์สิน ของตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับบุคคลที่ไปเป็นพระมหากษัตริย์ออกจากกัน มีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ส่วนข้อเสนอ 10 ข้อที่นิสิตนักศึกษาปราศรัย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่ามีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วย ติดใจกับท่าทีการแสดงออก แต่เราไม่สามารถย้อนกลับไปลบเหตุการณ์นี้ได้ ดังนั้นจะต้องบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรเพื่อธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยให้ได้

ปิยบุตร เห็นว่า

1. ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นตามที่เคยเสนอไป คือ ยกเลิก ม.279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ, ยกเลิก ม.269-272 บทเฉพาะกาล ส.ว., แก้ไข ม. 256 เปิดทางให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภารัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากนั้นก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้ง

2.ประเด็นปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงแล้ว ถ้าได้ติดตามความคิดของนิสิตนักศึกษาก็พบว่ามีมาอย่างต่อเนื่องมาก่อน ดังนั้นทางจัดการมีแค่ 2 ทาง คือ ทางเลือกแรก กำจัดให้หมดสิ้นไป กับทางเลือกที่สอง คือ ยอมรับ รับฟัง และนำมาเป็นประเด็นสาธารณะให้ถกเถียงกันได้

“ผมเห็นว่าทางเลือกแรกไม่มีทางจัดการปัญหาได้ ทำได้แต่เพียงให้คนเห็นต่างหายไปช่วงหนึ่ง และท้ายที่สุดก็วนกลับมาที่เดิม ซึ่งไม่เป็นคุณต่อใครทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นการฆ่าอนาคตของชาติ ผมเห็นว่าทางเลือกที่ถูกต้องคือทางเลือกที่สอง ต้องเป็นเรื่องที่อภิปรายได้เหมือนประเด็นอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม ต้องสามารถอภิปรายได้ด้วยความปรารถนาดี จริงใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน

ทั้งหมดนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เคียงคู่กับระบอบประชาธิปไตย จึงอยากส่งเสียงไปถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำจารีตประเพณี รอยัลลิสต์ ฝ่ายกษัตริย์นิยมที่มีเหตุผล มีสติปัญญา ไม่ได้บ้าคลั่ง เราต้องช่วยกัน อย่าให้มีใครหยิบยกนำพาเรื่องเหล่านี้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นต่อคนในชาติ อยากให้ช่วยกันส่งเสียงหน่อย เสียงของท่านจะช่วยประคับประคองบ้านเมืองนี้ให้ไปต่อได้ เพราะถ้าไม่ออกมาเลย ฝ่ายคลั่ง ฝ่ายกระหายเลือด จะผลักประเด็นนี้ให้เป็นความขัดแย้งของคนในชาติ ให้เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับคนอีกรุ่นหนึ่ง” ปิยบุตร กล่าว



Written By
More from pp
“เอนก” รมว.การอุดมศึกษาฯ ตั้ง อว.ส่วนหน้า ลุยขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน จ.ลำปาง ส่งหนึ่งพันศาสตราจารย์ สองหมื่นด็อกเตอร์ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทำงานร่วมกับจังหวัด
เมื่อวันที่ 13 พ.ย.63 ที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. เป็นประธานการประชุม การนำงานด้าน อววน. ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน...
Read More
0 replies on “ปิยบุตร ชี้ 5 ลักษณะ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หวังฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีสติ”