ป.ป.ส. เผยการปฏิบัติของหน่วยเฉพาะกิจร่วม AITF ยึดยาอีจากยุโรปได้ 39,500 เม็ด และตลอด 10 เดือนเศษ ยึดยาอีที่ถูกลักลอบส่งทางพัสดุระหว่างประเทศจากยุโรปเกือบ 2.6 แสนเม็ด พร้อมเตือน ยาอีฤทธิ์รุนแรง เสพเกินขนาดอาจเกิดภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้
นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1-4 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สนธิกำลังร่วมภายใต้ภารกิจสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force) ยึด “เอ็กซ์ตาซี” หรือยาอีที่ถูกส่งผ่านทางพัสดุระหว่างประเทศจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์รวม 39,500 เม็ด เพื่อนำมาขายปลีกในประเทศ โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงปัจจุบัน หน่วยเฉพาะกิจร่วม AITF สามารถสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาอีจากประเทศแถบยุโรปไปแล้ว 28 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 26 คน ยึดของกลางรวม 259,416 เม็ด
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ความพยายามลักลอบนำยาอีเข้าไทย เริ่มกลับมาปรากฏหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยแหล่งที่มาทั้งหมดมีต้นทางจากประเทศแถบยุโรป
โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2563 หน่วยเฉพาะกิจ AITF สามารถยึดยาอีได้ 2 ครั้งต่อเนื่องกันเป็นการลักลอบส่งจากเยอรมนี 35,000 เม็ด และจากเนเธอร์แลนด์ 4,500 เม็ด
โดยตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจ AITF ยึดยาอีจากยุโรป 28 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 26 คน ยึดของกลางรวม 259,416 เม็ด แยกเป็นการลักลอบขนส่งจากเยอรมนีมากที่สุด 18 ครั้ง 174,409 เม็ด โปรตุเกส 3 ครั้ง 17,222 เม็ด เนเธอร์แลนด์ 3 ครั้ง 10,630 เม็ด ฝรั่งเศส 2 ครั้ง 32,145 เม็ด เบลเยียมและสโลวีเนีย ประเทศละ 1 ครั้ง รวม 25,010 เม็ด
เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวอีกว่า สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ตรวจพิสูจน์ยาอีที่ถูกส่งมาจากยุโรป พบว่ามีสาร MethyleneDioxy MethAmphetamine: MDMA ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีน และจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับยาบ้าและไอซ์ ในปริมาณที่มากถึงร้อยละ 40-60 ในหนึ่งเม็ด ซึ่งมากกว่าเมทแอมเฟตามีนที่พบในเม็ดยาบ้าถึง 4 เท่า
นั่นหมายถึงว่า ยาอีออกฤทธิ์รุนแรงกว่ายาบ้าหลายเท่า และเป็นอันตรายต่อตัวผู้เสพเป็นอย่างมาก ซึ่งการเสพยาอีอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงจนระบบควบคุมอุณหภูมิล้มเหลว หรือภาวะ Hyperthermia ในบางรายหากเสพเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย และเสียชีวิตในที่สุด สำหรับในไทยยาอีจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โทษทางกฎหมายจึงค่อนข้างรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวตอนท้ายว่า ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาจะต้องลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมทรัพยากรแก้ไขปัญหาในทุกมิติ และขอให้พยายามลดปัญหาให้ได้ในทุกวิถีทาง
จึงขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ หากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง