“สุริยะ”เผยยอดการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการในนิคมฯ 3 ไตรมาสพุ่ง!จ้างงานเพิ่มกว่า 1.4 หมื่นราย สร้างเม็ดเงินลงทุนกว่า 7 หมื่นลบ.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ตัวเลขการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม 3ไตรมาส ของปีงบประมาณ 2563 มีผู้ประกอบการยื่นขอแจ้งเริ่มประกอบกิจการเพิ่ม 163 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 14,698 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 74,395 ล้านบาท

พร้อมเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมล่าสุดที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-มิ.ย.63) มีนักลงทุนที่ยื่นคำขอใบอนุญาตแจ้งเริ่มประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว 33 แห่ง โดยพบว่าจำนวนผู้ประกอบการแจ้งเริ่มประกอบกิจการ รวมทั้งสิ้น 163 ราย

แบ่งออกเป็นการขออนุญาตประกอบกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) จำนวน 104 ราย และนิคมอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ EEC จำนวน 59 ราย ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 14,698 ราย รวมมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 74,395 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2562 (ต.ค.61- มิ.ย.62) มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาต เพิ่มขึ้น 41 ราย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2 มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินธุรกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติ

เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมซึ่งรายงานโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ที่ระบุว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สอดคล้องกับการขออนุญาตที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม หลังจากก่อนหน้านี้มีโรงงานบางแห่งที่อาจได้รับผลกระทบเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดการผลิต ประกอบกับไม่มีการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าต่างประเทศ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์จึงทำให้กำลังการผลิตกลับมาฟื้นตัว และกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง


ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการมาติดต่อยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้งผู้ที่แจ้งประกอบกิจการใหม่ และขยายกิจการเดิม พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซียังคงครองแชมป์มีนักลงทุนให้ความสนใจมาลงทุนเป็นลำดับแรก


นอกจากนี้ กนอ.ได้ออกมาตรการความช่วยเหลือให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว 2 ระยะ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถแบ่งเบาภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้พัฒนา และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ลดภาระ เสริมสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง

“ไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุนโดยเฉพาะการมีซัพพลายเชนที่ดี (อ้างอิงข้อมูลจากผลการสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) ) เทียบกับหลายประเทศในแถบอาเซียน อีกทั้งการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งในนิคมอุตสาหกรรมมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมาลงทุน ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ร้อยละ 27.27  จีน ร้อยละ 16.36 ไต้หวัน ร้อยละ 9.09 ออสเตรเลีย ร้อยละ 5.45 และฮ่องกง ร้อยละ 5.45”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวปิดท้าย.


Written By
More from pp
เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย จับมือแพทย์ความงาม ชูวิทยาศาสตร์งานวิจัย รังสรรค์นวัตกรรมเพื่อทุกความมั่นใจ
เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย จัดงานเสวนา Merz Aesthetics “Science Behind Confidence” ภายใต้หัวข้อ “เบื้องหลังของวิทยาศาสตร์และการศึกษาวิจัย สู่การรังสรรค์นวัตกรรมเสริมความงามเพื่อทุกความมั่นใจ”
Read More
0 replies on ““สุริยะ”เผยยอดการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการในนิคมฯ 3 ไตรมาสพุ่ง!จ้างงานเพิ่มกว่า 1.4 หมื่นราย สร้างเม็ดเงินลงทุนกว่า 7 หมื่นลบ.”