ขบ. มั่นใจแผนฟื้นฟูฯ ขสมก. จะเป็นการยกระดับคุณภาพการบริการครั้งสำคัญ ดึงประชาชนทิ้งรถส่วนตัวหันมานั่งรถเมล์ ลดปัญหาจราจร ขณะที่อดีตบอร์ด ขสมก.ชี้เดินมาถูกทาง จ้างเอกชนเดินรถ ช่วยลดต้นทุน ประชาชนได้ประโยชน์ อุดช่องโหว่ทุจริต ลั่นหากยังย่ำอยู่กับที่คาด 3 ปี หนี้ทะลุ 2 แสนล้าน ย้ำไม่น่าห่วงโปรเจกต์เกินพันล้าน มีข้อตกลงคุณธรรม ปิดประตูตุกติก
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ว่า หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ทาง ขสมก. ต้องนำรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 3,000 คัน มาเดินรถให้บริการ ใน 108 เส้นทาง และจ้างเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจาก ขบ. แล้ว เดินรถอีก 54 เส้นทาง จำนวน 1,500 คัน
ซึ่งจะทำให้การบริการรถโดยสารประจำทางครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ทั้งนี้รถโดยสารปรับอากาศดังกล่าว จะเป็นรถใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิง และเป็นรถไฟฟ้า (EV)รวมทั้งเป็นรถชานต่ำที่เป็น UNIVERSAL DESIGN ติดตั้งระบบ E-Ticket , GPS และ WIFI
“ถือเป็นการให้บริการขนส่งสาธารณะเชิงคุณภาพ ส่งผลดีต่อประชาชนที่ใช้ขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง ทั้งจากตัวรถที่เป็นรถใหม่ที่มีคุณภาพมีมาตรฐานด้านความปลอดภัย และรองรับการเดินทางของคนพิการหรือผู้สูงอายุ จูงใจให้ประชาชนที่ใช้รถส่วนตัวตัดสินใจจอดรถตนเองไว้ที่บ้าน และเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ช่วยลดปัญหาการจราจรที่คับคั่งในเขตเมืองได้ นอกจากนี้การใช้รถมาตรฐานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังช่วยลดการก่อมลพิษทางอากาศ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละลอง PM2.5 ตอบโจทย์ประชาชนโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯจะได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง เชื่อมต่อกับบริการขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการครั้งสำคัญ” นายจิรุตม์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร อดีตคณะกรรมการ (บอร์ดขสมก.) กล่าวว่า “เป็นการเดินหน้าฟื้นฟูฯ ขสมก.ได้อย่างถูกทางโดยเฉพาะการใช้วิธีจ้างรถโดยสารวิ่งตามระยะทาง แทนการจัดซื้อและเช่ารถเมล์ตามแผนฟื้นฟูเดิมที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบเมื่อปี 62 เพราะช่วยทำให้ต้นทุนของ ขสมก. ลดลง ไม่ต้องแบกภาระ และประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งค่าโดยสาร 30 บาทต่อวัน นอกจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางสามารถขึ้นรถได้ทุกคันตลอดวันแล้ว ยังจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น”
รศ.ดร.คณิต กล่าวต่อว่า การจะจัดซื้อหรือเช่ารถเมล์ตามแนวทางเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องติดขัดข้อระเบียบต่างๆ และนอกจากต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อ หรือเช่ารถเมล์แล้ว ยังต้องจ่ายค่าบุคลากร ค่าซ่อมบำรุง และเช่าพื้นที่เพื่อจอดรถเมล์ด้วย แต่หากใช้วิธีจ้างรถเมล์ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเจ้าของรถทั้งหมดที่ต้องรับผิดชอบ ขสมก.ไม่ต้องแบกภาระ รวมถึงหากรถเมล์ประสบอุบัติเหตุ ถ้าเป็นรถ ขสมก. ต้องจ่ายค่าเสียหาย และค่าชดเชยหลายร้อยล้านบาท แต่เมื่อจ้างรถวิ่ง พร้อมคนขับ ทาง ขสมก. ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ
“ไม่ว่าจะใช้วิธีเก่าหรือใหม่ การทุจริตทำได้หมด แต่วิธีการจ้างรถวิ่ง มีข้อมูลชัดเจนที่ตรวจสอบได้ เช่น การปล่อยรถของเจ้าหน้าที่ ขสมก. เอื้อเอกชน ด้วยการไม่ต้องให้วิ่งตามจำนวนเที่ยวต่อวันตามเงื่อนไข เรื่องนี้หลอกกันไม่ได้ เพราะทุกคันมีจีพีเอส หากรถไม่วิ่งจะรู้ทันทีว่าทุจริต และหากสมรู้ร่วมคิดกันต้องติดคุก แต่ถ้าเป็นรถ ขสมก. ช่องโหว่การทุจริตมีมากมาย เช่น การล้างรถ หากไม่ส่งล้าง 3 วัน เราก็ไม่มีหลักฐาน รวมถึงการส่งซ่อมบำรุง แต่ไม่ยอมส่งซ่อม ฮั้วกันกับอู่ซ่อมจ่ายสินบนให้” อดีตบอร์ด ขสมก. กล่าว
รศ.ดร.คณิต กล่าวอีกว่า “การเปิดประมูลจ้างเอกชนมาเดินรถแทนนั้น ไม่น่าเป็นห่วง เพราะโครงการนี้มีมูลค่าเกินพันล้านบาท ต้องเข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรมตามข้อกำหนดของกรมบัญชีกลางซึ่งจะทำให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระเข้ามาช่วยดูแล ขณะเดียวกันการร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) จะไม่ได้ร่างโดย ขสมก. เพียงผู้เดียว ต้องมีการจ้างศึกษาช่วยดูความเหมาะสม และความเป็นธรรมด้วย
“ รัฐจะยุบ ขสมก.เลยก็ได้ แต่รัฐมองว่าเป็นเครื่องมือช่วยเหลือประชาชนได้อยู่ เพราะบางเส้นทางที่ไม่ทำกำไร เอกชนจะไม่วิ่ง จึงยังต้องมี ขสมก. ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน แต่ต้องหาวิธีที่ทำให้คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่ใช่ขาดทุน เพราะทุกวันนี้ต้องขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) จากรัฐบาล เพื่อจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยปีละ 4-5 พันล้านบาท หากยังปล่อยไว้แบบนี้และต้องลงทุนเพิ่มในการซื้อหรือเช่าอีก เชื่อว่าไม่เกิน 3 ปี หนี้สิน ขสมก. เป็น 2 แสนล้านบาทแน่นอน” รศ.ดร.คณิต กล่าว