นายกฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด เคร่งครัด เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันการระบาดระลอก 2

29 มิ.ย.63 เวลา 09.30 น. ณ  ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลว่า จนถึงวันนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม ในระยะที่ 4 แล้ว เพื่อแก้ไขบรรเทา ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 มาเกิน 30 วันแล้ว

เราได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และประเทศในอาเซียน แต่เรายังคงต้องเตรียมพร้อมตั้งรับในกรณีที่อาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันเริ่มเปิดเรียน และจะมีการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมอีกหลายประเภทจึงขอให้ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังคงมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันดูแล

นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงเสนอแนวทางขับเคลื่อนอาเซียนหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย 3 แนวทาง คือ

1. ส่งเสริมอาเซียนให้เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง พัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกัน 2. สนับสนุนอาเซียนสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เน้นการบูรณาการทางเศรษฐกิจ 3. สร้างภูมิคุ้มกันอาเซียนในระยะยาวทำแผนฟื้นฟูสร้างภูมิคุ้มกันแก่อาเซียน และเสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ควบคู่กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการณ์ New Normal ซึ่งการทำงานของ ศบค. ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารราชการแบบ Normal โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางการบริหารราชการแบบ New Normal เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่โอกาสหลังจากวิกฤติการณ์ 2019

โดยได้เชิญกลุ่มต่างๆ มาให้ข้อมูล รับฟังปัญหาความเดือดร้อน และนำความเห็นข้อเสนอแนะของเขามาพิจารณาประกอบการกำหนดมาตรการผ่อนปรนในระยะต่างๆ กิจการใดที่ยังมีความเสี่ยงยังไม่สามารถผ่อนปรนได้ก็ต้องหาทางช่วยเหลือเยียวยา สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในความจำเป็นเกี่ยวกับการออกมาตรการของรัฐบาล รวมถึงพยายามสื่อสารชี้แจงให้สื่อมวลชน เข้าใจวิธีคิด วิธีบริหารสถานการณ์ของ ศบค. เหตุผล ความจำเป็นที่ต้องมีพระราชกำหนดฯ เป็นเครื่องมือในการทำงาน

นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งราชการ ประชาชนที่ร่วมมือกันอย่างแท้จริงจนประสบความสำเร็จในวันนี้ เห็นผลการดำเนินการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ทุกประเทศต่างรอคอยความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งถือเป็นสินค้าเพื่อประโยชน์สาธารณะ

โดยไทยได้บริจาคเงินหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย โดยขอให้บูรณาการการทำงาน ความร่วมมือ และระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนของประเทศไทย ในการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคอย่างจริงจัง หากร่วมมือร่วมใจกันอาจจะส่งผลให้การวิจัย และพัฒนาของไทยประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการต่อที่ประชุมว่า แม้สถานการณ์ในประเทศจะดีขึ้นผ่านมาตรการควบคุม ดูแลของรัฐบาล แต่ขอให้ทุกส่วนสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า ทั่วโลกยังมีปัญหาตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ขอให้ประชาชนเข้าใจเจตนาของรัฐบาลที่ไม่ได้มีข้ออ้างในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อวัตถุประสงค์อื่น มีเพียงความจำเป็นเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรค ไม่ให้มีการแพร่ระบาดกลับเข้ามาใหม่ ขอให้ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ศปม. ร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อไป

ในส่วนของการผ่อนคลายให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้นั้น ขอให้ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาจากเหตุผล ความจำเป็น ความเร่งด่วน และในส่วนของมาตรการผ่อนคลายเพื่อการท่องเที่ยวจะต้องพิจารณากันต่อไป ประกอบกับสั่งการให้ทุกฝ่ายร่วมกันเตรียมความพร้อมทุกระยะ ทั้งระบบการจัดการ มีจำเป็นต้องมีมาตรการที่รัดกุม

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการ Work From Home ที่เริ่มผ่อนคลายลง ขอให้พิจารณาใช้มาตรการเหลื่อมเวลาให้เกิดประโยชน์ ควบคู่ไปกับดูแลเรื่องการเดินทางของประชาชนไม่ให้เกิดความแออัดในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ และเพื่อยังคงประสิทธิภาพในการดำเนินสถานการณ์ในประเทศเช่นที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเข้า-ออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จัดลำดับ แผนงาน และการกลั่นกรอง เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมการรองรับตั้งแต่ต้นทาง จนถึงการเข้า State Quarantine ที่เข้มงวด

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการเกี่ยวกับการนำเครื่องมือควบคุมอย่างจริงจังมาใช้ประโยชน์ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” อย่างจริงจัง เข้มงวด ปลุกจิตสำนึกให้เป็นหน้าที่ นอกจากนี้ ต้องเตรียมเทคโนโลยี และแอพพลิเคชันติดตามตัวบุคคลในกรณีที่จะมีการพิจารณาเปิดการเดินทางเข้าออกประเทศ เพื่อธุรกิจ หรือการท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าเพื่อการควบคุมป้องกันในอนาคต

การดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เร่งพิจารณากลั่นกรองแผนงาน หรือโครงการในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยให้คำนึงถึงการนำไปสู่เป้าหมายและทิศทางของประเทศไทยภายหลังวิกฤติโควิด เพื่อใช้งบประมาณนี้เสริมโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายหลังวิกฤติ เช่น การเป็น medical hub, การเป็นแหล่งอาหารของโลก การท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

ซึ่งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รายงานว่า ภายหลังการพิจารณาสถานการณ์ เห็นควรเร่งรัดการผ่อนปรนให้นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ และช่างเทคนิคสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจ และทำงานในประเทศไทยได้เป็นอันดับแรก เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการตรวจคัดกรองเชื้อ ต่อประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาหาแนวทางที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายต่อไป

ข้อเสนอมาตรการผ่อนคลาย ระยะที่ 5

นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางต่อการดำเนินการตามมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ปกติ เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่กิจการ กิจกรรมในระยะนี้มีความเสี่ยงสูง จึงขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอธิบายสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่ามีความจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวด ต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ เป็นการดูแลประชาชน และควบคุมโรค

ทั้งนี้ เกี่ยวกับการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ ที่อาจยังมีประชาชนที่ยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางเพื่อรับความร่วมมือต่อไป พร้อมย้ำว่าข้อมูลประชาชนต้องเป็นความลับ และขอให้เจ้าหน้าที่เคร่งครัดในการดำเนินมาตรการ รวม
ทั้งให้กำหนดมาตรการลงโทษหากเจ้าของกิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด


มาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการอย่างเข้มงวด และตรวจตราอย่างละเอียด โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาผ่อนคลายการใช้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ ผ่อนคลายบุคคลให้ผู้มีใบอนุญาตเดินทางเข้าราชอาณาจักรก่อนได้ โดยมีกระทรวงการต่างประเทศดูแล คัดกรอง และกำหนดมาตรการ ดังนี้

1. การขยายกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าไทย
2. การจัดทำความตกลงพิเศษ (Special Arrangement Arrangement)
3. แนวทางเร่งการดำเนินการให้นักธุรกิจต่างชาติภายใต้ข้อ 3(5) ของข้อกำหนดฯ
4. หลักเกณฑ์ในการรับรองการเดินทางของแขกของรัฐบาล
รวมทั้ง สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาทิ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มธุรกิจด้านการส่งออก SME และธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก

Written By
More from pp
เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เดินหน้าแคมเปญ “ระวังหมดอายุ” ขับเคลื่อนเชิงรุกพัฒนาถนนสาทรเป็น “ต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุ” มุ่งสร้างวัฒนธรรมถนนปลอดภัย หวังขยายผลทั่วประเทศ
ขับเคลื่อนเข้มข้น!! เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม จับมือภาคีเครือข่ายต่างๆ เดินหน้าแคมเปญ “ระวังหมดอายุ STAY SAFE” ต่อเนื่อง มุ่งสร้างวัฒนธรรมถนนปลอดภัย เน้นสื่อสารเชิงรุก จัดเต็มเครื่องมือ และกิจกรรมชวนคนไทยมาร่วมกันสะกิดเตือนด้วยความรัก...
Read More
0 replies on “นายกฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด เคร่งครัด เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันการระบาดระลอก 2”