“ดร.กนก” แนะ ให้เงินกู้ 1 ล้านล้าน เป็น “วาระประชาชน”

23 มิ.ย. 2563 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 สภาผู้แทนราษฎร ออกมานำเสนอแนวทางในการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ เพื่อผ่อนคลายความกังวลของประชาชนในการใช้จ่ายเงินกู้ก้อนหมาศาลผ่านโครงการต่างๆ จากทางภาครัฐ แบ่งเป็น 3 กลไกหลัก ดังนี้

1. การคัดเลือกโครงการ คือ อย่างที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลประกาศกรอบเวลาในการเสนอและพิจารณาโครงการต่างๆ ที่กระชั้นชิดมาก จนทำให้ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน และขาดการไตร่ตรองที่เข้มข้นของข้าราชการประจำ ซึ่งในหลายโครงการที่นำเสนอไป เราจึงเห็นการปัดฝุ่นโครงการเก่าๆ ที่มีอยู่แล้ว เอามาเติมหลักการและเหตุผลใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงไปกับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วส่งเข้ามาร่วมพิจารณา อาทิ โครงการติดตั้ง CCTV ต้านไวรัสโควิด 19 โครงการซ่อมแซมผิวถนนสนับสนุนการป้องกันการระบาดไวรัสโควิด 19 โครงการสร้างสนามกีฬาสู้ไวรัสโควิด 19 เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการใช้เงินกู้อย่างไม่ตรงเป้า ไม่ตรงจุด และเสียของ ดังนั้น ถ้าคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ สามารถโน้มน้าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขยายเวลาการคัดเลือกโครงการออกไป เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเข้ามา รวมไปถึงการมีส่วนร่วมสร้างบรรทัดฐานสำหรับการคัดเลือกโครงการที่อยู่บนความต้องการของประชาชนเป้าหมายเป็นสำคัญแล้ว ก็เชื่อว่าการใช้เงินกู้มหาศาลก้อนนี้จะยิงตรงไปยังปัญหาของประชาชนได้อย่างแท้จริง

2. การติดตามและตรวจสอบโครงการ ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความซื่อสัตย์สุจริต และความโปร่งใสของการใช้เงินกู้มหาศาลก้อนนี้ในโครงการต่างๆ ดังนั้น ภารกิจสำคัญของกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ต้องสร้างกระบวนการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอนในแต่ละโครงการให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ข้อเสนอโครงการ เหตุผลการอนุมัติโครงการ การจัดซื้อจัดจ้างของโครงการ การบริหารจัดการโครงการ บุคลากรและกิจกรรมที่ปฏิบัติ พร้อมผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเหล่านั้น เป็นต้น โดยที่ข้อมูลในส่วนนี้ต้องถูกประมวลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์เกี่ยวกับการปฏิบัติโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องเปิดทางให้ประชาชน สื่อสารมวลชน และภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบอย่างสะดวก


3. การประเมินผลโครงการ ทั้งในส่วนของกระบวนการปฏิบัติโครงการ ที่ดำเนินการไปในรูปแบบของการติดตามและตรวจสอบโครงการแล้ว ยังต้องให้น้ำหนักกับการประเมินผลสำเร็จเมื่อโครงการนั้นสิ้นสุดลงด้วย ซึ่งหัวใจของการประเมินผลนั้น คือการพุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ ว่าบรรลุเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในการอนุมัติโครงการหรือไม่ เพราะเหตุใด ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนถึงผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่า และที่เกิดขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การประเมินผลนั้น ต้องหาคำตอบด้วยว่า “ทำไมโครงการจึงสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ”

การประเมินผลจึงต้องค้นหาเหตุผลว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของผลลัพธ์ในการปฏิบัติโครงการออกไปจากเป้าหมายของโครงการ การค้นหาสาเหตุของการเบี่ยงเบนนี้ จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนและปฏิบัติโครงการต่อๆ ไปในอนาคตให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายได้ ทั้งจากการเป็นแบบแผนของความสำเร็จ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ “ถ้าเดินตามหลักของการประเมินผลในรูปแบบที่สื่อสารมานี้ นั่นหมายถึง คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องไปจนการปฏิบัติโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านสิ้นสุดลง นั่นคือเดือนกันยายน 2564

ซึ่งทั้งหมดนี้คือ หมุดหมายของผมในฐานะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ที่จะพยายามสร้างกรอบของหลักการดังกล่าวให้กลายเป็นแนวทางในการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ให้ได้ และเป็นการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน ที่ต้องขับเคลื่อนเงินก้อนมหาศาลขนาดนี้ ไม่ให้สูญเปล่าไปอย่างไร้ค่า เพราะนี่คือวาระของประชาชน” ดร.กนก กล่าวทิ้งท้าย

Written By
More from pp
บีทีเอส กรุ๊ปฯ ส่ง ยู ซิตี้ ลุยธุรกิจประกันชีวิต
นายกวิน กาญจนพาสน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MATCH บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท...
Read More
0 replies on ““ดร.กนก” แนะ ให้เงินกู้ 1 ล้านล้าน เป็น “วาระประชาชน””