สถานการณ์โรคหัด

กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคหัดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด หากมีไข้สูง และมีผื่นนูนแดงที่ใบหน้าควรรีบพบแพทย์ทันที

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โรคหัดทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เผยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบผู้ป่วยโรคหัดทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พร้อมรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด หากมีอาการไข้สูง 3 – 4 วัน มีผื่นนูนแดงขึ้นที่ใบหน้า แล้วแพร่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที

วันนี้ (11 กันยายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามโครงการเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทยตามพันธสัญญานานชาติ ปี 2562-2565 จึงมอบหมายให้ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม มีผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปีนี้พบผู้ป่วยโรคหัด 364,808 รายทั่วโลก ส่วนประเทศที่มีผู้ป่วยโรคหัดมากที่สุดในปีนี้ 3 อันดับแรก คือ ประเทศมาดากัสการ์ 127,464 ราย ประเทศยูเครน 54,246 ราย และ ประเทศฟิลิปปินส์ 36,253 ราย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคหัด 4,435 ราย เสียชีวิต 14 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นราธิวาส ปัตตานี เพชรบุรี เชียงใหม่ และตาก ตามลำดับ
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของ โรคหัด คือ ไข้ออกผื่น โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3 – 4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแพร่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2 – 3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อย ๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุย หรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และวัคซีนป้องกันโรคหัด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็ก อายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากพบว่าบุตรหลานยังรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ยังคงมีความเสี่ยงในเด็กเล็ก และเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

Written By
More from pp
“ปรับ เปลี่ยน ปลุก ปั้น” ดึง “วราพร ใจเที่ยง” นักกีฬาคิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย ช่วยเทรนเยาวชน
นายวินัย ทองรัตน์ กรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นประธานจัดโครงการ “ปรับ เปลี่ยน ปลุก ปั้น” ที่ โรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม...
Read More
0 replies on “สถานการณ์โรคหัด”