1 มิ.ย. 63 เวลา 09.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ เขตคลองเตย กทม.
เพื่อพบปะเยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือประชาชนและกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความยากลำบากจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) อาทิ เยี่ยมครอบครัวผู้ประสบปัญหาทางสังคม เยี่ยมบ้านตัวอย่างสุขอนามัยที่ถูกต้อง เยี่ยมครัวกลางชุมชน ปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์แจกจ่ายข้าวกล่อง มอบรถเข็นสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ มอบแว่นสายตา และมอบถุงยังชีพ เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง
และในวันนี้ ตนพร้อมด้วยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเขตคลองเตย ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่เพื่อพบปะเยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ณ ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ เขตคลองเตย กทม. ตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยและการท่าเรือแห่งประเทศไทยบางส่วน
ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ริมทางรถไฟอย่างหนาแน่นรวม 518 ครอบครัว โดยมีกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. จำนวนมาก ประกอบด้วย 1) เด็กเล็ก 0-6 ปี 44 คน 2) เด็กโต 6 ปีขึ้นไป 40 คน 3) คนพิการ 21 คน และ 4) ผู้สูงอายุ 93 คน อีกทั้งมีจิตอาสาวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง 35 คน ซึ่งขณะนี้ ประชาชนจำนวนมากในชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ต้องประสบปัญหาว่างงานและตกงาน ทำให้รายได้ลดลงจนกระทั่งไม่มีเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั้งตนเองและครอบครัว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ มีการรับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งหารือร่วมกันถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนต่อไป ในเบื้องต้น ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือได้ร่วมกับเครือข่าย 43 ชุมชนในเขตคลองเตยและสภาองค์กรชุมชนคลองเตย วางแผนและแนวทางในการรับมือต่อสถานการณ์โรคโควิด-19
โดยแบ่งออกเป็น 1) แผนระยะสั้น โดยออกสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งจัดทำครัวกลางชุมชน เป็นต้น 2) แผนระยะกลาง โดยจัดทำระบบคูปองอาหาร และคัดกรองกลุ่มเปราะบางในชุมชนเพื่อเร่งช่วยเหลือต่างๆ และจัดทำเป็นต้นแบบ และ 3) ระยะยาว โดยติดตั้งระบบกองทุนข้าวสารอาหารแห้ง
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ มีการมอบความช่วยเหลือต่างๆ ให้ประชาชนในชุมชนดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ได้แก่ เยี่ยมครอบครัวผู้ประสบปัญหาทางสังคม เยี่ยมบ้านตัวอย่างสุฝขอนามัยที่ถูกต้อง เยี่ยมครัวกลางชุมชน ปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์แจกจ่ายข้าวกล่อง 600 กล่อง มอบรถเข็นสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ 42 คัน มอบแว่นสายตาและเสื้อ 500 ชุด มอบถุงยังชีพ 553 ถุง เป็นต้น
อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ อาทิ กระทรวง พม. โดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 มาให้บริการคำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสวัสดิการสังคมจากรัฐ
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน มาจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดเพื่อประชาชน
กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม มาออกหน่วยบริการเคลื่อนที่
และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิต มาให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูสภาพจิตใจ
รวมทั้งภาคเอกชน คือ บริษัท โปรเฟสชั่นเนล ลาโบราทอรี่ แมนเนจเม้นท์คอร์ป จำกัด และนักศึกษา วปอ. 62 ได้สนับสนุนรถบริการตรวจสุขภาพและเอ็กซ์เรย์ปอดเคลื่อนที่ 2 คัน
ทั้งนี้ หากชุมชนและประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง