“ข่าวปลอม” วิกฤติสื่อออนไลน์ที่ทุกคนต้องร่วมแก้

ข่าวปลอม วิกฤติสื่อออนไลน์ที่ทุกคนต้องร่วมแก้

Fake News ข่าวลวง ข่าวเท็จ ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวที่มีเนื้อหาบิดเบือน เรื่องที่แต่งขึ้นเอง มโนไปเอง หรืออะไรก็ตามที่เข้าข่ายเรื่องไม่จริง ทุกวันนี้ทวีความรุนแรงขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะใครๆ ก็สามารถสร้างเรื่องขึ้นมาเล่า แชร์และบอกต่อกันไปได้ทั้งที่อาจจะมีเค้ามูลความจริงหรือเป็นเรื่องปั้นแต่งขึ้นมา แต่เพราะปัจจุบันเราถูกอิทธิพลของโลกแห่งข้อมูลข่าวสารล้นทะลัก เทคโนโลยีออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เข้าครอบงำ ข่าวสารจึงกระจายไปในวงกว้างหลายรูปแบบอย่างรวดเร็ว ยากต่อการควบคุมและบริหารจัดการข้อมูลให้ถูกต้องเหมาะสม

ด้วยรูปแบบของการรับสารที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมในการเสพข่าวของประชาชนก็เปลี่ยนตามไปด้วย ผู้รับสารเริ่มคุ้นชินกับความเร็วและความ (รุน) แรงของเนื้อหาในข่าว จึงปักใจเชื่อข้อมูลเหล่านั้นทันที โดยไม่คิดวิเคราะห์ถี่ถ้วน

ทำให้เกิดกลุ่มคนที่มีเจตนาแอบแฝงมุ่งร้าย พยายามที่จะสร้าง เรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นข่าวที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต หรือ เฟคนิวส์ขึ้นมา บ้างทำขึ้นด้วยอารมณ์ บ้างทำเพราะความสนุก บางคนทำเอามัน หรือแม้แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ระมัดระวังผลกระทบที่จะตามมา ขณะที่บางคนก็ตั้งใจที่จะส่งสารเท็จออกไปเพราะขาดจิตสำนึก และไร้คุณธรรมในจิตใจ

จึงมุ่งหวังปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง สับสน กังวลใจ ต้องการให้ใส่ความสาดโคลนกันไปมา และสร้างความวุ่นวายในสังคม

ทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ความเคลื่อนไหวอัพเดทในโลกโซเชียลมีเดีย สาธารณูปโภค สุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น

ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นสร้างผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้เลยทีเดียว จากผลสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทยในปี 2561  พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน นั่นหมายความว่าโอกาสในการเผยแพร่ข่าวปลอม มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับประเด็น Fake News มากขึ้น ยกตัวอย่าง แคนาดา อิตาลี และไต้หวัน ได้บรรจุการแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงไว้ในหลักสูตรการเรียนของนักเรียนแล้ว และบางประเทศก็ออกกฎหรือสร้างมาตรการเด็ดขาดสำหรับผู้เผยแพร่ข่าวลวง

ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสิงคโปร์ เสนอร่างกฎหมายจัดการกับข่าวปลอม กำหนดให้มีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี หรือปรับสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ  23 ล้านบาท)

ด้านรัฐสภามาเลเซียก็ผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวลวงครอบคลุมทั้งสำนักข่าว สื่อดิจิทัล และสื่อสังคม ออกมาแล้ว โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี ปรับ 500,000 ริงกิต สำหรับความผิดทั้งในและนอกดินแดนมาเลเซีย ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติ ควบคู่ไปกับการสร้างเว็บไซต์ sebenarnya.my เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือข่าวได้

ส่วนบ้านเรา มีข่าวว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็กำลังรวบรวมพลังพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าศึกษาแนวทางในการจัดตั้งศูนย์เฟคนิวส์เซ็นเตอร์ (Fake News Center) เป็นนโยบายเร่งด่วนเช่นกัน

สังคมทั้งโลกเริ่มเห็นผลกระทบที่น่ากลัวของเฟคนิวส์ว่ามันอันตรายเกินกว่าจะนิ่งเฉย จึงต้องเร่งแก้ไข เพราะเริ่มใกล้เคียงกับคำว่าอาชญากรรมเข้าไปทุกที จึงคาดหวังที่จะสร้าง ภูมิต้านทาน” การรับสารให้กับประชาชน โดยนำเสนอวิธีกำราบข่าวปลอมเพื่อทำให้ผู้รับข่าวสารรู้เท่าทันข่าวลวง (Media literacy) ให้ได้มากที่สุดและทันท่วงที

โดยเฉพาะ LINE ซึ่งถือเป็นช่องทางใหญ่อีกช่องทางหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อกระจายข่าวปลอมสร้างปัญหาทั้งในไทยและทั่วโลก ก็คงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ 

LINE จึงพยายามหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ กระตุกสติให้ทุกคนตระหนักถึงการใช้วิจารณญาณก่อนแชร์ข่าวต่างๆ ออกไป

ล่าสุด ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของแอปพลิเคชัน LINE ในประเทศเกาหลี ได้ออกมาเปิดตัวแคมเปญ STOP FAKE NEWS” โดยร่วมมือกับสำนักข่าวเอพี (The Associated Press-AP) เครือข่ายข่าวระดับโลก หวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาข่าวปลอม และข้อมูลออนไลน์ที่ไม่ถูกต้อง โดยทำให้ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ได้รับความรู้เกี่ยวกับลักษณะของข่าวปลอม การระบุข่าวปลอม และวิธีการแชร์ข้อมูลข่าวสารอย่างรับผิดชอบ นำไปสู่วิธีการรับสื่อที่ดีขึ้น และค้นหาข้อมูลในโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้นนั่นเอง

สำหรับแคมเปญ STOP FAKE NEWS” LINE ประเทศไทยได้เริ่มมีแอคชั่นต่อยอดมาจากบริษัทแม่ ในการมุ่งสร้างจิตสำนึกและการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการกับเฟคนิวส์ออกมาแล้วเช่นกัน โดย LINE ประเทศไทย นอกจากจะร่วมกับสำนักข่าวเอพีแล้ว ยังจับมือกับสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวิร์คชอปให้กับนิสิตและนักศึกษา ปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องจากเล็งเห็นว่ากลุ่มนิสิตและนักศึกษาคณะดังกล่าว คือต้นทางของการสร้างสรรค์สื่อออกสู่สาธารณะในอนาคต ย่อมต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับสื่อยุคใหม่ และผลิตสื่อด้วยจิตสำนึกความรับผิดชอบ ตลอดจนจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและเป็นผู้สร้างความตระหนักรู้ในการรับข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนทุกคน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงทั้งหลาย โดยเฉพาะกระตุ้นให้คิดอย่างรอบคอบ และข้อมูลนั้นต้องมีความน่าเชื่อถือมากเพียงพอ ต้องชัวร์ก่อนถึงจะแชร์ออกไปได้

ทุกฝ่ายในสังคม ทั้งกลไกด้านกฎหมายของรัฐ  การตรวจสอบของภาคเอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางกระจายข่าวปลอม และที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนทุกคนที่เป็นผู้ใช้งานต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ตลอดจนการลดอคติ ซึ่งจะถือเป็นพลังสำคัญที่ร่วมกันในการหยุดข่าวปลอมได้

 

Written By
More from pp
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 และพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566″ (Thailand Research Expo 2023) ครั้งที่ 18
Read More
0 replies on ““ข่าวปลอม” วิกฤติสื่อออนไลน์ที่ทุกคนต้องร่วมแก้”