ธปท. ชี้แจงสภาฯ ย้ำความชัดเจนของกลไกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs

30 พ.ค. 63 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ผู้ประกอบการ SMEs เป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจไทย เป็นกลไกสำคัญมากต่อการจ้างงาน และการฟื้นฟู รวมทั้งการรักษาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ SMEs เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ต้องมีความหลากหลายและครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนของ ธปท. เป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตั้งแต่มาตรการลดดอกเบี้ย การเลื่อนกำหนดชำระหนี้เป็นการทั่วไป การเร่งให้ปรับโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพิ่มเติม

สภาวะวิกฤตโควิด มีความไม่แน่นอนสูง ไม่มีใครทราบว่าจะจบเมื่อใด และจบอย่างไร รวมถึงโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ความไม่แน่นอนนี้กระทบทุกคน ผู้ประกอบการต้องวางแผนการทำธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นความไม่แน่นอนของสถาบันการเงินเวลาประเมินความเสี่ยงของลูกค้าเพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่

ดังนั้น หลักในการออกแบบมาตรการช่วยเหลือ SMEs ตาม พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 จึงคำนึงถึง 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. เร่งเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้า SMEs ที่เข้าข่ายจะได้รับความช่วยเหลือมีประมาณ 1.7 ล้านราย

ทั้งนี้ ธปท. มีหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน
ระบุชัดเจนให้ “สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม และผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากแหล่งอื่นก่อนเป็นอันดับแรก รวมถึงต้องไม่มีลักษณะให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ในกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จากหลายช่องทางอยู่แล้ว”

2. รักษาความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน ต้องหาจุดสมดุลให้เหมาะสม เพราะเมื่อสถาบันการเงินต้องเลื่อนการชำระหนี้ให้กับ SMEs และลูกหนี้รายย่อยเป็นการทั่วไป ทำให้ไม่ได้รับสภาพคล่องเข้ามา แต่สถาบันการเงินยังมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงินทุกวัน

ดังนั้น จึงต้องดูแลความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินด้วย วิกฤตโควิดอาจทำให้เกิดหนี้เสียซึ่งจะกระทบเงินกองทุนของสถาบันการเงินได้เช่นกัน ด้านหนึ่งก็อยากเยียวยา ด้านหนึ่งก็ต้องคำนึงผลกระทบต่อสถาบันการเงิน เพราะหากสถาบันการเงินอ่อนแอก็จะไม่สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงต่อไปได้เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง

3. มาตรการต่าง ๆ ด้านการเงินในช่วงความไม่แน่นอน ภาครัฐต้องเข้าร่วมค้ำประกันความเสียหายจากการช่วยเหลือ SMEs เหมือนกับที่บรรษัทประกันอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินการในหลายโครงการ แต่มาตรการต่าง ๆ ต้องไม่สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป

4. ต้องมีส่วนเอื้อให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีการทำธุรกิจในโลกหลังโควิดที่โครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปมาก ธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ การมุ่งใส่เงินโดยธุรกิจยังไม่ได้ปรับตัวให้เหมาะสม จะยิ่งสร้างปัญหาในอนาคต เพราะหากปรับตัวไม่ได้ แต่ใส่เงินเข้าไปมาก จะทำให้มูลหนี้สูงขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือแก้ปัญหาหนี้ก็จะยากยิ่งขึ้น

อนึ่ง พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่ควรเรียกว่าเป็น พ.ร.ก. กู้เงินของรัฐบาล เพราะกลไกของการให้ซอฟต์โลนเป็นการใช้สภาพคล่องของ ธปท. ที่ปล่อยให้สถาบันการเงินในช่วงระยะเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนด 2 ปี สถาบันการเงินจะนำเงินส่วนนั้นกลับมาจ่ายคืนให้กับ ธปท. จึงไม่เป็นหนี้สาธารณะ และไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป

สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. ปล่อยให้สถาบันการเงินร้อยละ 0.01 และสถาบันการเงินนำไปปล่อยต่อให้ SMEs ในช่วง 2 ปีแรก ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 นั้น ขอเรียนว่ากลไกซอฟต์โลนตามปกติ สถาบันการเงินจะเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านเครดิตซึ่งหากกลายเป็นหนี้เสีย

สถาบันการเงินจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และสถาบันการเงินมีต้นทุนในการประกอบการ แต่ด้วยความไม่แน่นอนสูงในภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด 19 รัฐบาลจึงเข้ามาช่วยชดเชยความเสียหายในบางส่วน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้น

ถ้าสินเชื่อ SMEs ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน  เมื่อพิจารณาถึงวิธีการคำนวณหลักการชดเชย การคำนวณเงินชดเชยของรัฐจะขึ้นอยู่กับเงินสำรองเผื่อหนี้เสียที่ต้องตั้งเพิ่มขึ้น หากลูกหนี้มีหลักประกันกับสถาบันการเงิน จำนวนเงินการชดเชยก็จะต่ำกว่านั้นมาก เพราะต้องไปหักหลักประกันที่ลูกหนี้มีกับสถาบันการเงินก่อนถึงจะมาคำนวณเงินชดเชย

จึงเป็นมาตรการที่เน้นผู้ประกอบการรายเดิม เพราะในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่และไม่เคยมีประวัติการกู้เงินกับสถาบันการเงินมาก่อน สถาบันการเงิน จะไม่ทราบความเสี่ยงและไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็ว และอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดใน พ.ร.ก. อาจไม่ครอบคลุมความเสี่ยงของลูกหนี้

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อซอฟต์โลน ตาม พ.ร.ก.ปล่อยไปแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อช่วยเยียวยาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบในช่วงแรก และเพื่อฟื้นฟูเมื่อระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะของการฟื้นฟูหลังการระบาดของโควิด 19 คลี่คลาย

ดังนั้น ตาม พ.ร.ก. ได้กำหนดระยะเวลาช่วง 6 เดือนแรกในการยื่นคำขอกู้และสามารถขยายต่อได้อีก 2 รอบ ๆ ละ 6 เดือน ธปท. ไม่ได้คาดหวังว่า ซอฟต์โลนจะปล่อยได้ทั้งหมด 5 แสนล้านบาทในทันที

อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมาของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจช้ากว่าที่ ธปท. คาดหวังไว้เพราะแต่ละสถาบันการเงินมีนิยามของ SMEs ต่างกัน รวมทั้งมีความเสี่ยงและกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่ต่างกัน นอกจากนั้น มาตรการ “อยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อเพื่อชาติ”
มีผลต่อขั้นตอนของการค้ำประกัน การจดทะเบียน การจดจำนองหลักประกันใหม่ๆ อีกทั้งลูกหนี้บางส่วนยังไม่ต้องการขอสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด 19 ยังไม่ชัดเจน ตลอดจนแนวทางปรับตัวก็ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการกำชับสถาบันการเงินเร่งรัดให้ติดต่อกับลูกหนี้ พร้อมประสานงานกับสมาพันธ์ SMEs ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้า เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนโดยเร็วต่อไป

สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จากซอฟต์โลน และนำเงินซอฟต์โลนอัตราดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้กับ SMEs รายอื่นในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

หากท่านใดมีหลักฐานและข้อมูล ขอความกรุณาช่วยแจ้งให้ ธปท. ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวน และหากพบว่ามีความผิดจากการดำเนินการจริง ธปท. จะเรียกคืนเงินซอฟต์โลน พร้อมดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ตอบข้อสงสัยของสมาชิกสภาฯ คำถาม ปล่อยสินเชื่อโดยไม่เก็บดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก นับจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเดือนหน้าจะครบ 6 เดือนแล้ว
คำตอบ ใน พ.ร.ก. มาตรา 9 วรรค 2 ระบุชัดเจนว่า ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะ 6 เดือนแรก นับจากวันที่ลูกหนี้ได้รับเงินกู้เพิ่มเติม นั่นคือ นับจากวันที่ลูกหนี้ได้รับเงินไม่ใช่วันที่ 31 ธันวาคม 2562

คำถาม สินเชื่อซอฟต์โลนปล่อยให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ หรือนายทุนเท่านั้นหรือไม่

คำตอบ มาตรการซอฟต์โลนที่ ธปท. ได้อนุมัติในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ยอดรวม 58,208 ล้านบาท จำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 35,217 ราย เฉลี่ยรายละ 1.65 ล้านบาท ร้อยละ 51 ของลูกหนี้เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท และร้อยละ 23 เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินเดิม 5-20 ล้านบาท เพราะฉะนั้นร้อยละ 74 ที่ได้รับอนุมัติไปทั้งหมดเป็นลูกหนี้ที่มีวงเงินไม่สูงกว่า 20 ล้านบาท และร้อยละ 71 เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในต่างจังหวัด ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวที่ยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูง ได้รับการจัดสรรซอฟต์โลนไปแล้วกว่า 5,100 ล้านบาท


Written By
More from pp
ลงพื้นที่ต่อเนื่อง กลับจากเหนือ อีสานลุยลาดพร้าว กทม.ฟังปัญหาค้าขาย ให้กำลังใจพ่อค้าแม่ค้า พบ กำลังซื้อลด ยอดขายฝืด ชูกองทุนคนตัวเล็ก แก้หนี้ เติมทุน ให้คนตั้งตัวได้เร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 เวลา 18.30 น.ที่ตลาดโชคชัย4 เขตบาดพร้าว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายสุวงศ์...
Read More
0 replies on “ธปท. ชี้แจงสภาฯ ย้ำความชัดเจนของกลไกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs”