รมว.คลัง มอบหมายให้ สศค. ร่วมกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จัดทำเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com เพื่อเผยแพร่มาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบการจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จัดทำเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com เพื่อเผยแพร่มาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบการจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการ
นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จัดทำเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรวบรวม และเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง ในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตรงความต้องการของลูกค้า ประชาชนและผู้ประกอบการ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยนายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคาร จึงได้มีนโยบายอย่างเร่งด่วนให้ ธอส. ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในการพัฒนา Website ดังกล่าว โดยได้วางโครงสร้างการออกแบบเว็บไซต์ เน้นความสะดวกและง่ายต่อการสืบค้นหาข้อมูลมาตรการด้านการเงินต่างๆ โดยสามารถเลือกค้นหาได้ทั้งตามสถาบันการเงินของรัฐแต่ละแห่ง ประกอบด้วย
1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) 7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 8.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และ 9.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
และเลือกตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ ได้แก่ 1.เกษตรกรและ SMEs เกษตรกร 2.ประชาชนฐานรากและบุคคลทั่วไป 3.ผู้ประกอบการ SMEs 4.ผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออก และ 5.Non-Bank
ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ยังมีการจัดกลุ่มตามการช่วยเหลือเป็นด้าน ได้แก่ พักชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ หรือเติมสินเชื่อใหม่ให้เพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการเงินให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ ตลอดจนสนับสนุนแหล่งเงินให้กับประชาชน และผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องหรือมีเงินทุนไปใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลกระทบของปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเงื่อนไขในแต่ละมาตรการนั้น จะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณาอนุมัติตามความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถเข้าดูข้อมูลเว็บไซต์ดังกล่าวได้ทาง www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com หรือเข้าทางเว็บไซต์ของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ www.gfa.or.th นอกจากนี้ ยังสามารถคลิกแบนเนอร์ผ่านหน้าเว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเว็บไซต์ของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง
โดยเมื่อลูกค้าประชาชนหรือผู้ประกอบการสนใจเลือกใช้มาตรการใดได้แล้วสามารถคลิกลิงค์เข้าไปยังเว็บไซต์ของสถาบันการเงินของรัฐที่สนใจเพื่อดูรายละเอียดมาตรการ และติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ เป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการลดความเสี่ยงจากการที่ต้องเดินทางไปติดต่อสถาบันการเงินต่างๆ ด้วย สำหรับช่องทางการเข้าสืบค้นหาข้อมูลมาตรการด้านการเงินดังกล่าว สามารถเข้าดูได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป