กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนช่วงผ่อนปรนระยะที่ 2 อาจละเลยการป้องกันตนเอง เน้นย้ำมาตรการต่อเนื่อง คุมเข้มการสวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ให้เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันตนเองและสร้างสุขอนามัยที่ดี
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ภายหลังที่รัฐบาลได้ผ่อนปรนกิจการ และกิจกรรมต่าง ๆ ในกลุ่มสีเขียวให้สามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง อาทิ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย และกองถ่ายภาพยนตร์ เป็นต้น
ส่งผลให้ประชาชนเริ่มทำกิจกรรมนอกบ้านและใช้บริการสถานที่สาธารณะกันมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการประเภทศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซึ่งพบว่าหลังเปิดให้บริการไม่กี่วันมีประชาชนใช้บริการจนต้องเฝ้าระวังและจัดระเบียบกันมากขึ้นนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) มีความห่วงใย ความปลอดภัยของประชาชน จึงเน้นย้ำให้ทุกคนใส่ใจสุขอนามัยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน พบปะพูดคุยกับผู้อื่น หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในห้างสรรพสินค้า และสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งต้องเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 – 2 เมตร หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ และควรมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อใช้เวลานอกบ้าน ให้น้อยที่สุด
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังป้องกันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนมาตรการทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมใช้บริการด้วย จากการติดตามสถานประกอบกิจการที่ได้รับการผ่อนปรน พบประชาชนมีความกังวลเมื่อต้องไปใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันในเรื่องความแออัด
ดังนั้น เมื่อต้องใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านทุกวัน การสวมหน้ากากยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งวิธีการเลือกหน้ากากผ้าที่เหมาะสมนั้น ต้องเลือกขนาดและปรับสายให้กระชับกับใบหน้า สวมให้คลุมทั้งจมูกและใต้คาง เปลี่ยนหน้ากากผ้าทุกวันหรือเปลี่ยนเมื่อรู้สึกเปียกชื้นในระหว่างวัน เมื่อกลับถึงที่พักให้ซักด้วยสบู่หรือผงซักฟอก และตากแดดให้แห้ง ก่อนนำมาใช้ในครั้งต่อไป
“ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้องนั้น ให้หันด้านที่มีสีหรือบานพับคว่ำไว้ด้านนอก และหันด้านที่ไม่มีสีหรือบานพับหงายเข้าหาใบหน้า ซึ่งจะมีลักษณะพื้นผิวนุ่มกว่า เพื่อดูดซับเหงื่อ น้ำมูก น้ำลายจากการไอ จาม โดยให้ขอบที่มีแถบลวดอยู่ด้านบน กดแถบลวดให้แนบสันจมูก และดึงหน้ากากให้คลุมถึงใต้คาง
ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง หากเกิดการฉีกขาด ใส่แล้วไม่กระชับ เปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลายหรือเปียกน้ำ ให้เปลี่ยนใหม่ทันที โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน หากพบว่าหน้ากากมีความชื้นให้รีบเปลี่ยนใหม่และควรมีหน้ากากสำรองไว้ตลอดเวลา
สำหรับวิธีกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วนั้นประชาชนทั่วไป และทิ้งลงในถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิด หากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจน ที่สำคัญต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสวมและหลังทิ้งหน้ากาก และห้ามใช้หน้ากากร่วมกับคนอื่น เพื่อสุขอนามัยที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว